top of page

แผนที่มรดกวัฒนธรรม กะดีจีน-คลองสาน สร้างฮีโร่จาก 'ชุมชน'

           เพิ่งจัดงานฉลองสมโภชกันอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อไม่นานมานี้กับ โครงการอนุรักษ์เจดีย์พระประธาน วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ในระดับภูมิภาค จากองค์การยูเนสโก

           อันเกิดจาก “ความร่วมมือร่วมใจที่น่ายกย่องระหว่างพระสงฆ์ ผู้เชี่ยวชาญและชาวชุมชน เป็นนิยามของความสัมพันธ์อันยั่งยืนระหว่างวัดและชุมชนในศตวรรษที่ 21 ในการธำรงรักษาพุทธศาสนสถานให้ดำรงอยู่ในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชุมชนจนตราบถึงทุกวันนี้”

 

           วัดประยูรตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้ากับสะพานพระปกเกล้า นับรวมเป็นย่านเดียวกับเขตเมืองเก่าฝั่งธนบุรีอย่างย่านกะดีจีน-คลองสาน เป็นย่านที่มีประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมหลากหลาย เป็นที่รวมของ 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ (พุทธมหายาน พุทธเถรวาท คริสต์ และอิสลาม) จนเคยถูกเรียกว่าเป็น “The Cosmopolitan District” ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

          แต่สภาพปัจจุบันที่ผู้คนคล้ายจะลืมเลือนพื้นที่ตรงนี้ไป ทั้งที่อยู่แค่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ UddC เล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ที่กำลังเผชิญกับปัญหาสังคมเมืองกัดกร่อนชีวิตผู้คนนี้ จึงร่วมกับ องค์กรสถาปนิกสยาม ลงพื้นที่เพื่อทำ “แผนที่มรดกวัฒนธรรม” โดยมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของย่านให้คนรุ่นใหม่กลับมาสนใจพื้นที่ของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง

 

          ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรืออาจารย์แดง ผู้บุกเบิกโครงการสร้างแผนที่มรดกเล่าให้ฟังว่า การทำแผนที่มรดกนั้นต้องขอความร่วมมือจากชุมชน ต้องดึงให้คนในชุมชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วย เพราะคำว่า “มรดก” ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนกำหนดคุณค่า คุณค่าของคนในชุมชนที่เห็นว่าสิ่งนี้มีคุณค่าและเป็นมรดกได้ก็แบบหนึ่ง ส่วนของกรมศิลป์ก็อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง มันไม่เหมือนกัน

 

          “เราเห็นว่าบางจุดที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์จนได้รับการดูแลแล้วก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน เช่น เจดีย์วัดประยูร สวยแล้ว ใครก็อยากดู แต่พวกมรดกที่เยินๆ แล้วจะสูญหายล่ะ เพราะเราเห็นว่าคนที่ชอบพูดว่าเด็กสมัยนี้ไม่สนใจประวัติศาสตร์ ไม่เห็นรากเหง้าตัวเอง แต่สภาพรากเหง้าทรุดโทรมยับเยินขนาดนี้ ยังไงเด็กก็มองไม่เห็นหรอก เลยเกิดความคิดว่าจะเลือกบางพื้นที่ขึ้นมาทำการออกแบบและปรับปรุง แล้วให้นิสิตร่วมมือกับชาวบ้านเข้ามาจัดการออกแบบ” อาจารย์แดงกล่าว

           การทำงานของโครงการเร่ิมต้นด้วยการร่วมมือของชุมชนกับกลุ่มจาก UddC ที่รวบรวมข้อมูลจากชาวบ้านให้ช่วยชี้จุดที่เห็นว่าเป็นปัญหา ขณะที่อาจารย์แดงคอยประสานกับกลุ่มประธานชุมชนจัดการระดมทุนผ่านการจัดผ้าป่าชุมชนที่วัดประยูรร่วมกับทุนขององค์กรสถาปนิกสยาม โดยได้รับความร่วมมือจากชุมชนรอบๆ อย่างชุมชนกุฎีจีนบริเวณโบสถ์ซางตาครู้ส และชุดชนวัดประยูรกับชุมชนวัดกัลยาณ์ ที่เป็นคนระบุโจทย์ให้กับทาง UddC ว่าอยากให้พื้นที่ที่คนในชุมชนเห็นว่ามีคุณค่ากลับมาสวยงามอีกครั้งหนึ่งด้วย

 

          “ถ้าถามว่าทำไมชุมชนต้องมีส่วนร่วม เพราะว่าเราไม่มีอำนาจ ไม่มีเงิน ไม่มีอะไรเลย เราก็ต้องใช้คนพวกนี้ช่วย เพราะว่า กทม. หรือที่ผู้ว่าฯทุกคนเคยบอกว่ารับฟังเสียงคนชั้นล่าง เป็นแค่นโยบาย เป็นแค่ประโยค แต่ว่าความเป็นจริงถ้าให้ลองไปขอเงิน ไม่มีหรอก ถึงต้องระดมทุนด้วยผ้าป่าเพราะว่าเสนอไปก็ไม่มีช่องทางที่จะเอาเงินตรงนี้มาได้ แล้วก็มีนักวิชาการมาช่วยออกแบบอย่างถูกต้องตามหลักการทุกอย่าง” อาจารย์แดงว่า

 

          ปัญหาข้อนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้นำชุมชนด้วยเช่นกัน นายวรชัย พิลาสรมย์ รองประธานสภาวัฒนธรรมเขตธนบุรี และหนึ่งในชาวชุมชนวัดกัลยาณ์ บอกว่า “ปัญหาชุมชนเรื้อรังเพราะระบบราชการเป็นระบบบริหารแบบบนลงล่าง ฉะนั้นอาจจะไม่ตอบโจทย์คนระดับล่าง อย่างสมมติเราบอกว่าให้ติดเสาไฟฟ้า แต่เขาดันเอาต้นไม้มาปลูก บอกให้ซื้อถังขยะ แต่ดันไปซื้อที่ทำน้ำแข็งตักกระดาษ มันไม่ตอบโจทย์เพราะเขาใช้งบประมาณเป็นตัวตั้งในการบริหารจัดการ

        ผลสะท้อนเรื้อรังมาตั้งแต่อดีตก็คือคุณภาพชีวิตคนรากหญ้าไม่สมบูรณ์สักที สิ่งแวดล้อมก็ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงเท่าที่ควร จริงอยู่ว่าชุมชนจะต้องเป็นคนเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเอง แต่ในเมื่อกระบวนการของรัฐมีการสนับสนุนมีการส่งเสริม มันก็ควรที่จะเอาข้างล่างขึ้นไปหาข้างบนด้วย”

 

          วรชัยยังเล่าอีกว่า ชุมชนในกรุงเทพฯนั้นความเหลื่อมล้ำสูงกว่าชุมชนต่างจังหวัด เพราะขณะที่ชุมชนต่างจังหวัดมีระบบการตรวจสอบตนเอง มี อบต. ที่เป็นคนในชุมชน และชาวบ้านสามารถตรวจสอบได้อย่างใกล้ชิด แต่กรุงเทพฯทำแบบนั้นไม่ได้ ชุมชนตรวจสอบไม่ได้เพราะผู้บริหารอยู่สูงกว่ามากเกินไป

 

           จากตรงนี้เองที่ทุกฝ่าย ทั้งทางวัด ชุมชน และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง เล็งเห็นตรงกันว่าต้องทำอะไรสักอย่างที่เป็นการส่งเสียงให้คนหันกลับมามองย่านกะดีจีน-คลองสานอีกครั้ง ซึ่งได้วัดประยูรเป็นผู้เบิกทางไว้ให้บ้างแล้วจากการบูรณะเจดีย์ของวัดประยูร จนทาง UddC ได้เริ่มทำกิจกรรม “ศิลป์ในซอย” ทีขณะนี้ต่อยอดมาเป็นปีที่ 5 แล้ว

          ศักรพัฒน์ อนุรักษ์ภราดร นักออกแบบและพัฒนาเมืองจาก UddC ผู้เป็นแม่งานในงานศิลป์ในซอยครั้งที่ 5 “ศิลป์ สรรค์ สนั่น ซอยส์” ปีนี้บอกว่า ในปีนี้แทนที่จะจัดตามรูปแบบเดิมคือสามวันสามคืนทั่วทั้งหกชุมชนนั้น เปลี่ยนเป็นการทยอยจัดงานเป็นสี่ครั้งย่อย ชาวชุมชนเร่ิมแสดงตัวตนได้มากขึ้นในแต่ละพื้นที่ ซึ่งนับว่าเป็นข้อดีของการเปลี่ยนแปลงนี้เลยทีเดียว

 

          “ทุกอย่างต้องผ่านการหารือ ชุมชนต้องเห็นด้วย เราจะคุยกับชุมชนตลอด อย่างวันนี้คุยกับป้าคนหนึ่งเขาบอกว่าชอบงานแบบนี้มากกว่า เขาไม่ชอบอะไรที่เป็นแบบสำเร็จรูปเกินไป เช่น มาจัดเทศกาลอาหารแล้วก็ไป เขาไม่อยากให้ฉาบฉวย เขาอยากมีส่วนร่วมด้วยมากกว่า อย่างถ้าเราให้เขาเล่าประวัติศาสตร์นะ เขาเล่าได้ยาวมาก เพราะเขาภูมิใจ แต่ว่าปกติเขาไม่มีพื้นที่ในการแสดงออก”

          สำหรับการลงพื้นที่บริเวณย่านเก่าตรงนี้ UddC ชี้แจงว่าขณะนี้โครงการเริ่มพัฒนาไปได้ค่อนข้างดีแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการสร้างสำนึกให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตนเอง และพอการลงพื้นที่สิ้นสุดในประมาณอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โครงการต้องออกจากพื้นที่และให้ชุมชนเป็นคนจัดการทุกอย่างเอง

 

          “ไม่ใช่ว่าเราจะต้องอยู่เป็นฮีโร่ตลอดไป” อาจารย์แดงกล่าวขณะให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับก้าวต่อไปของชุมชน “ตอนนี้กระบวนการดีแล้ว ชุมชนเขาเป็นแกนเองด้วย ซึ่งทำให้เขาต้องคอยติดต่อประสานงาน เราก็จะเริ่มค่อยๆ ถอยออกมา เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้องและเราไม่สามารถทำตัวเป็นแกนหลักตลอดไปได้

         

          “งานลักษณะปลูกฝังความคิดริเริ่มคนในชุมชนแบบนี้ ถึงระดับหนึ่งเราต้องสามารถถอยออกมาเพราะชุมชนเขาสามารถทำอะไรต่อไปได้เอง อย่างตรงนี้เราก็คิดเหมือนกันว่าสุดท้ายแผนงานของเราที่นี่ก็ต้องเหลือเวลาอีกไม่กี่ปีเท่านั้น”

          การหันหน้าเข้าหากันและยอมรับความแตกต่างของแต่ละวัฒนธรรม กับการมองเห็นปัญหาและร่วมกันแก้ไขให้ตรงจุด คงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ชุมชนนี้เกิดการพัฒนา สิ่งสำคัญตอนนี้ชาวชุมชนจะต้องยืนด้วยลำแข้งของตัวเองต่อไปให้ได้ในอนาคต เพราะอาจจะถึงเวลาแล้วที่คนนอกต้องเดินออกไปเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างที่อาจารย์แดงบอกเอาไว้

 

          ไม่มีประโยชน์ถ้าคนนอกจะเป็นฮีโร่ตลอดไป.

 

 

 

 

 

(ตีพิมพ์: วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2557 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ประชาชื่น หน้า 18)

bottom of page