top of page

THE READER

เรื่องย่อ

 

          นวนิยายเรื่องนี้ถูกแบ่งออกเป็นสามตอน ตอนแรกเล่าถึงการพบเจอกันของหญิงสาววัยสามสิบหก ฮันนา สมิทช์ กับเด็กหนุ่มวัยสิบห้า มิคาเอล แบร์ก รักกัน มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งจนผูกพันกันแนบแน่น โดยมีพิธีกรรมประหลาดของฝ่ายหญิงที่จะต้องให้ฝ่ายชายอ่านวรรณกรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เธอฟังก่อนร่วมรักกันทุกครั้ง เด็กหนุ่มเติบโตขึ้นภายใต้สภาวะลุ่มหลงฝ่ายหญิงจนอาจเรียกได้ว่ามัวเมา จนวันหนึ่งเธอก็หายไปจากชีวิตเขาโดยไม่บอกไม่กล่าวอะไรเลย

 

          ตอนที่สองจะเล่าถึงการพบเจอกันอีกครั้งของฮันนากับมิคาเอล ในการพิจารณาคดีของฮันนาที่ตกเป็นจำเลยฐานมีความผิดในฐานะผู้คุมนักโทษของกลุ่ม SS ทำหน้าที่ควบคุมดูแลนักโทษหญิงจำนวน 300 คน ในค่ายกักกัน ซึ่งขณะนั้นกำลังอพยพย้ายเข้าไปในโบสถ์ร้าง เกิดเหตุระเบิดขึ้นทั่วบริเวณค่าย ระเบิดลูกหนึ่งตกลงมาบนหลังคาโบสถ์ ไฟไหม้ลามลงมา เหล่านักโทษพยายามหนี แต่ประตูโบสถ์กลับล็อคปิดตาย ผู้คุมจำนวนหกคนที่หนึ่งในนั้นมีฮันนาอยู่ด้วยไม่มีใครเปิดประตูให้พวกเธอ จนเกือบทั้งหมดของนักโทษในขณะนั้นเสียชีวิต

 

          มิคาเอลที่กำลังเรียนเกี่ยวกับด้านกฎหมายได้มาเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีครั้งนี้ด้วย ระหว่างการพิจารณาหลายครั้งหลายครา และหลังจากผ่านการครุ่นคิดอย่างหนักพร้อมทั้งต่อสู้กับความรักที่มีในตัวฮันนา กับความเกลียดชังที่เขาควรจะมีต่อตัวเธอในฐานะผู้กระทำผิดแล้ว เขาก็ค้นพบความจริงข้อหนึ่งที่ฮันนาปกปิดมาตลอดตั้งแต่เขาพบเธอ นั่นคือฮันนาไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้

 

          ผลสรุปของคดีคือฮันนาแพ้ เธอไม่ยอมเปิดเผยความจริงเรื่องที่เธอไม่รู้หนังสือ มิคาเอลไม่ปริปากบอกใครเพราะเคารพการตัดสินใจของฮันนา เธอโดนจำคุกตลอดชีวิต

 

          ตอนที่สามเล่าถึงชีวิตที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ของมิคาเอล เขาแต่งงาน มีลูก และหย่าร้าง กลายเป็นคนที่มีบาดแผล ไม่อาจทนความต้องการที่จะอ่านออกเสียงดังๆ ได้ จึงอ่านหนังสืออัดเสียงส่งให้ฮันนาที่อยู่ในคุกฟัง นานอยู่หลายปี จนฮันนาสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้จากในคุก เริ่มเขียนจดหมายกลับมาหามิคาเอล แต่เขาไม่เคยเขียนกลับไปหาเธอแม้แต่ฉบับเดียว

 

          ถึงระยะหนึ่ง ฮันนาก็พ้นโทษ มิคาเอลเป็นเพียงคนรู้จักเพียงคนเดียวของเธอที่เหลืออยู่ แต่ความรักร้อนแรงที่เขาเคยมีให้เธอนั้นหมดไปแล้ว เมื่อได้พบกันครั้งหนึ่งก่อนหมดโทษ ฮันนาก็รู้ทันที เช้าวันต่อมาเธอฆ่าตัวตาย เป็นอิสระจากทุกอย่างอย่างแท้จริง

 

ประเด็นที่สนใจในหนังสือ

 

          หนังสือเล่มนี้ดำเนินไปด้วยความขัดแย้ง 2 ประการ ประการแรกที่ผู้เขียนดูเหมือนจะใช้เป็นตัวดึงดูดความสนใจของผู้อ่านก็คือ ความสัมพันธ์ของความรักที่ผิดศีลธรรมระหว่างมิคาเอลกับฮันนา เป็นฉากหน้าของเรื่องที่ทำให้เรื่องดำเนินไปอย่างมีเสน่ห์ตลอดทั้งเล่ม ส่วนความขัดแย้งประการที่สอง เป็นความผิดศีลธรรมอีกประการที่รุนแรงกว่า น่าชิงชัง และทำร้ายสิทธิมนุษยชนยิ่งกว่าเรื่องราวใดๆ เป็นผลกระทบจากการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิวกว่าหกล้านคนของนาซีนั่นเอง 

 

          ที่น่าสนใจก็คือคนเขียนราวกับจะเล่นตลกกับผู้อ่านด้วยการหลอกให้ผู้อ่าน รู้สึกถึงความไม่ถูกต้องของความสัมพันธ์ในประการแรก จนมีทัศนคติลบกับฮันนาจนอาจถึงขั้นเกลียดชัง แต่กลับทำให้สงสารฮันนาที่อับอายเรื่องไม่รู้หนังสือของตนเอง และต้องเก็บงำความลับของตนไว้ด้วยความทุกข์ทรมานในช่วงหลังของเรื่อง พูดง่ายๆ คือคนเขียนหลอกให้ผู้อ่านด่าฮันนาที่มีความสุขในเรื่องที่ผิด แต่สงสารฮันนาที่ต้องตกเป็นจำเลยในความผิดที่เธอได้ทำลงไปจริงๆ

 

          นิยายเรื่องนี้ซ่อนคำถามที่จะดูเป็นแก่นกลางของเรื่องไว้ว่า ถ้าคนที่คุณรักทำผิดพลาดคุณจะยังรักเขาอยู่หรือเปล่า ถ้ามองให้ลึกลงไปสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่ออาจเป็นการตั้งคำถามของคนเยอรมันยุคหลังสงคราม (ที่คงตั้งคำถามเหมือนที่มิคาเอลตั้งคำถามกับฮันนา) ว่าพวกผู้ใหญ่ปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ยังไง พ่อเรา แม่เรา ญาติพี่น้องเรา หรือคุณครูที่สอนเราอยู่นั้น พวกเขาผ่านยุคสมัยนั้นมาโดยได้ทำอะไรลงไปบ้าง ต่อต้านหรือว่าร่วมมือกับการกระทำนั้น คุณปล่อยให้เรื่องชั่วช้าต่ำทรามขนาดนี้เกิดขึ้นโดยที่คุณไม่ได้ทำอะไรเลยได้ยังไงกัน แต่คนรุ่นหลังอย่างมิคาเอลก็คงได้แต่ตั้งคำถาม เพราะไม่ว่ามองไปทางไหน ในประเทศที่เขาอยู่นี้ ก็มีแต่ผู้ใหญ่เหล่านั้นที่ปล่อยให้เรื่องๆ นี้เกิดขึ้นมาได้โดยไม่ลงมือทำอะไรเลย

 

          ดูแล้วก็เหมือนกับว่า ผู้เขียนให้มิคาเอลเป็นคนเยอรมันรุ่นหลังสงคราม และให้ฮันนาเป็นตัวแทนของผู้ใหญ่ เปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงครอบครัวให้มาเป้นความรักด้านชู้สาว และพูดแทนคนทั้งสองกลุ่ม

 

 

          อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการลงโทษจากสังคมที่มีต่อฮันนาในคดีที่เกิดขึ้น ในการพิจารณาคดีครั้งสุดท้ายที่ศาลตัดสินลงโทษนั้นมีผู้เข้าร่วมฟังการตัดสินจำนวนมาก คนเหล่านั้นแสดงท่าทางเกลียดชังฮันนาอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นคนในช่วงยุคเดียวกับฮันนา คำถามที่เกิดขึ้นคือพวกเขาก็ผ่านเรื่องนี้มาเหมือนกันไม่ใช่หรือ อะไรคือสิ่งที่ทำให้พวกเขามั่นใจว่าฮันนาผิด อย่างน้อยก็ผิดกว่าตัวเองที่ทำได้ดีที่สุดก็คืออยู่เฉยแน่ๆ

 

          มีฉากหนึ่งในศาลที่ผู้พิพากษาถามฮันนาประมาณว่าทำไมเธอถึงปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น แล้วฮันนาถามกลับไปด้วยความอยากรู้จริงๆ ไม่แฝงการประชดประชันหรือเลี่ยงคำถามแต่อย่างใดว่า “ถ้าศาลเป็นเธอศาลจะทำอย่างไร” แน่นอนว่าสิ่งที่ฮันนาทำนั้นผิดเต็มๆ ประตู เพราะฉะนั้นจุดนี้จึงไม่ใช่เรื่องของความถูกต้อง แต่เป็นเรื่องการตั้งคำถามว่าเธอควรจะทำอย่างไรในเมื่อทางเลือกไม่เหลือให้เธอมากนัก คุณมีทางเลือกอื่นให้ฉันอย่างนั้นหรือบอกมาสิ ช่วยทำให้ฉันตัดสินใจเลือกทางที่ถูกทีเถอะ 

 

           เราคงตัดสินความผิดของฮันนาได้อย่างร่้ายกาจและเที่ยงธรรมมากแน่ๆ เพราะเราอยู่กันอย่างสบายบนหอคอยงาช้าง ปลอดภัย ไม่มีชีวิตใครตกอยู่ในความรับผิดชอบของเรา แต่ลองถามตัวเองจริงๆ ว่าถ้าคุณเป็นฮันนาคุณจะทำอย่างไร ไม่ต้องเพ้อฝันถึงขนาดเป็นฮีโร่ที่ปลดปล่อยมวลมนุษยชาติหรอก แค่ลองนึกว่าคุณเป็นเธอ อยู่ในสถานะและทางเลือกที่มีไม่มากแบบนั้น มีกี่ทางให้คุณต้องเลือก หลายครั้งที่เรานึกภาพว่าถ้าเป็นเรา เราจะไม่ทำอย่างนั้น แต่การคิดแบบนั้นไม่เคยนำไปสู่การเข้าใจแต่อย่างใด เพียงเพราะตัดสินไปโดยยังไม่เข้าใจ พวกเราถึงยังไม่เคยเอาใจใครมาใส่ใจเราได้อย่างแท้จริง

 

          ประเด็นที่สามคือการไม่รู้หนังสือของฮันนา มีหลายเสียงทีเดียวตอนที่นิยายเรื่องนี้ถูกเผยแพร่ว่าผู้เขียนพยายามแก้ต่างให้กับพวกนาซี หรือเรียกร้องความเห็นใจจากสิ่งที่ตนได้ทำลงไป แต่ถ้าดูจากตอนจบของเรื่องที่ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้นพูดกับมิคาเอลก็คงจะเห็นได้ถึงสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ

 

          ที่น่าสนใจก็คือสัญญะที่สื่อถึงการไม่รู้หนังสือของฮันนานั้น เหมือนจะมีความหมายถึงการเชื่อมโยงบางอย่างถึงการกระทำของผู้นำนาซี ไม่ใช่เพราะความเกลียดชังชาวยิวหรอกที่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้น แต่เป็นเพราะความ “ไม่รู้” ต่างหาก ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นร้ายกาจและผิดศีลธรรมเพียงใด ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะก่อสร้างบาดแผลมากมายมหาศาลให้กับคนนับล้านขนาดไหน คิดเพียงแต่ต้องการกำจัดเพื่อให้ประเทศตนดีขึ้น สัญญะการไม่รู้หนังสือนั้นจึงเสมือนเป็นตัวแทนความมืดบอดทางปัญญาของนาซี เหมือนกับว่าผู้เขียนตั้งคำถามกับคำพูดที่บอกว่า “ไม่รู้ไม่ผิด” นั้นจริงหรือเปล่า

 

          ในแง่ของฮันนามีเรื่องที่น่าสนใจมากว่า การที่เธอไม่รู้หนังสือนั้นสามารถลดโทษให้เธอได้จริงหรือ การศึกษาหรือการรู้หนังสือนั้นเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหนกับการกระทำของเธอ คนเราถ้าไม่รู้หนังสือจะมีความสว่างทางปัญญามากขึ้นใช่หรือไม่ ถ้าอย่างนั้นแล้วเราจะยอมรับใช่ไหมว่า การศึกษาทำให้เราสูงขึ้นกว่าคนอื่นจริงๆ

          ประเด็นสุดท้ายที่ดูย้อนแย้งอย่างน่าประหลาดก็คือการที่มิคาเอลไม่เปิดเผยความจริงเรื่องไม่รู้หนังสือของฮันนา ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ หรือจะเป็นไปเพราะความโกรธ ผิดหวัง หรือสับสนในความเป็นจริงแต่อย่างใด การกระทำของมิคาเอลก็คล้ายๆ จะสอนฮันนาว่า คนเราสมควรที่จะมีสิทธิ์เลือกชีวิตของตนเอง 

 

          ในขณะสงคราม กลุ่มคนที่ฮันนาดูแลนั้นพวกเขาไม่มีสิทธิเลือก ไม่สามารถเลือกได้ว่าตัวเองจะอยู่หรือตาย แต่ตอนนี้เธอมีสิทธิ และสิทธินั้นก็เป็นสิทธิของเธอ ความจริงข้อนี้คงตามหลอกหลอนฮันนาอยู่ไม่น้อยขณะที่เธออยู่ในคุก อาจจะเป็นเรื่องดีที่เธอมีสิทธิ์ที่จะเลือก แต่ความกล้าบางครั้งก็เป็นอีกด้านหนึ่งของความกลัวที่อยู่ห่างกันเพียงเสี้ยว น่าตลกที่บางครั้งที่เราไม่เลือกนั้นไม่ใช่เพราะเราคิดว่าเราไม่มีสิทธิ แต่เราไม่กล้าพอที่จะใช้สิทธินั้นเพื่อเลือกทางของตัวเอง เอาเข้าจริงแล้วถ้ามิคาเอลโพล่งขึ้นมาตรงนั้นว่าเธออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สิ่งที่เธอได้รับนอกจากการลดโทษคงเป็นความอับอายและความเวทนาจากผู้อื่น แต่เธอคงโล่งใจที่เธอไม่ได้เป็นคนพูดมันออกมาด้วยตัวเอง ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ฮันนาต้องเรียนรู้ในเรื่องนี้คือ นอกจากคนเราสมควรมีสิทธิ์เลือกชีวิตตัวเองแล้ว เราต้องกล้าใช้สิทธิ์นั้นด้วยตัวเองอีกด้วย.

bottom of page