
จักรยานปันปั่นในแนวคิดทฤษฎีปรากฎการณ์นิยม
ตามแนวคิดทฤษฎีปรากฏนิยมจากนักทฤษฎีชาวเยอรมัน เอดมุนด์ ฮัสเสิร์ล (Edmund Husserl) อธิบายเอาไว้ว่า แนวคิดนี้เชื่อว่าจิตเป็นต้นกำเนิดของความคิดโดยไม่อาศัยสภาพแวดล้อม ซึ่งจะตรงข้ามกับแนวคิดทฤษฎีการกระทำระหว่างกันด้วยสัญลักษณ์ และถือว่าความรู้บางอย่างถูกต้องในตัวของมันเอง โดยไม่ต้องอาศัยปรากฏการณ์หรือสภาพแวดล้อมมาพิสูจน์ เช่น หลักเหตุผล
ดังนั้นหากลองมองตั้งแต่จุดเริ่มต้น ต้องตั้งคำถามย้อนกลับไปก่อนว่าจักรยานปันปั่น หรือจักรยานบริการสาธารณะที่มีคอนเซปต์การใช้แบบ hire - bike - return โดยเรียกร้องค่าสมาชิกนั้น เกิดขึ้นมาเพราะอะไร ทำไมมนุษย์ในสังคมปัจจุบันถึงสมควรและจำเป็นต้องใช้การเดินทางในลักษณะนี้
ต้นแบบของ ‘ปันปั่น’ น่าจะมาจากบริการรูปแบบเดียวกันกับอีกกว่า 600 เมืองทั่วโลก ที่ให้บริการในระบบจักรยานสาธารณะ (bicycle sharing systems) ประวัติศาสตร์ครั้งแรกของมัน (เท่าที่มีผู้บันทึกไว้) เริ่มต้นขึ้นในปี 1965 โดย Luud Schimmelpennink มีชื่อแผนการว่า White Bicycle Plan ที่เมืองอัมสเตอร์ดัมส์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดการใช้เครื่องยนต์ในเขตเมืองอัมสเตอร์ดัมส์ รวมทั้งมีความตั้งใจที่จะลดการราจรติดขัดให้ได้มากกว่า 40% ลดค่าใช้จ่ายให้ได้สองล้านกิลเดอร์สต่อปี (หรือ 1.12 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยให้ผู้ใช้บริการหยิบจักรยานไปใช้ในที่หนึ่งและนำไปวางเมื่อถึงจุดหมายให้ผู้ใช้คนต่อไป ในเดือนเดียวก็พบว่าจักรยานบางส่วนถูกขโมยและบางส่วนวางทิ้วไว้ริมคลอง
ต่อมาในปี 1974 ที่เมือง La Rochelle ประเทศฝรั่งเศส โครงการจักรยานสาธารณะในชื่อ Vélos Jaunes ก็ถือกำเนิดขึ้น และเป็นโครงการแรกที่จัดว่าประสบความสำเร็จและอยู่มาได้จนถึงปัจจุบันโดยมีการปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ปี 1993 โครงการจักรยานสีเขียว (Green Bike Scheme) ถูกสร้างขึ้นในเมืองแคมบริดจ์ ประเทศองักฤษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จจนต้องยกเลิกโครงการ เพราะจักรยานถูกทำลายหรือหายไปหมดภายในปีเดียว จนทางรัฐบาลอังกฤษต้องจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วยการใช้เทคโนโลยีที่รัดกุมมากขึ้น จนได้เป็นโครงการ Bikeabout ในเมือง Portsmouth ประเทศอังกฤษในปี 1995 โดยใช้ระบบจัดเก็บจักรยานที่มีความทันสมัยมากขึ้นของบริษัท GrippaTM โครงการ Bikeabout เป็นหนึ่งในแผนการ Green Transport Plan เพื่อลดการใช้รถยนต์ของเจ้าหน้าที่และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และเป็นที่แรกที่มีการใช้บัตรสมาร์ทการ์ดในการใช้ระบบจักรยานสาธารณะ แต่ปรากฎว่าโครงการ Bikeabout ไม่ประสบควมสำเร็จเพราะว่ามีจักรยานน้อยเกินไป และค่าสมาชิกรวมทั้ง (เมื่อทำจักรยานหายหรือชำรุด) มีราคาสูงจนมีผู้ใช้บริการน้อย ทางมหาวิทยาลัยเลยเปิดบริการรถมินิบัสรับส่ง จนระบบจักรยานสาธารณะต้องปิดตัวเองไปในปี 1998
ขณะที่ในปี 1995 โครงการ Copenhagen City Bikes or Bycykler København ถือกำเนิดขึ้นและจัดเป็นระบบจักยานสาธารณะขนาดใหญ่ระบบแรก (มีจักรยานในระบบกว่า 1,000 คัน) และค่อนข้างประสบความสำเร็จเพราะสร้างความแตกต่างด้วยการใช้ระบบหยอดเหรียญไม่ใช่แตะบัตร ที่จอดบังคับ และเพิ่มคุณสมบัติของจักรยานที่ไม่สามารถมีในระบบจักรยานอื่นได้ ตอนที่โครงการถูกยกเลิกในปี 2012 เนื่องจากรัฐบาลขาดแคลนงบประมาณ พบว่ามีจักรยานเหลืออยู่ในระบบถึง 1,700 คัน จากทั้งหมด 2,500 คัน
อีกระบบที่คล้ายกันคือโครงการ CityBikes ของเมือง Helsinki ประเทศฟินแลนด์ ก่อตั้งเมื่อปี 1997 ที่ระบบสามารถใช้การได้แต่ค่าใช้จ่ายสูงมาก ทั้งในการซ่อมแซมจักรยานและค่าใช้จ่ายในการสมัครสมาชิก (ที่ไม่สามารถเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการได้เยอะ ไม่อย่างนั้นจะไม่มีผู้ใช้บริการ) จนระบบต้องปิดตัวเองไปในปี 2010
ปัญหาของทั้งสองเมืองเกิดจากค่าใช้จ่ายในการทดแทนจักรยานที่ชำรุดและถูกทำลายนั้นมีราคาสูง การติดตามจักรยานที่หายไปทำได้ยากเพราะไม่ได้มีการติดตั้ง GPS ที่ตัวจักรยาน และผู้ที่ขโมยจักรยานไปก็มักทำให้จักรยานอยู่ในสภาพที่นำกลับมาใช้ในระบบไม่ได้อีกเลย
ต่อมาในปี 2005 โครงการ Vélo’v ถือกำเนิดขึ้นที่เมือง Lyon ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของบริษัทโฆษณา JCDecaux ที่ต้องทำประโยชน์สาธารณะในราคาที่ต่ำเพื่อแลกเปลี่ยนกับการฉายโฆษณาตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ (เช่น ป้ายรถประจำทาง ตามรถเมล์) เป้าหมายรองของโครงการคือลดการจราจรติดขัดภายในเมือง ลดมลพิษในอากาศ สร้างบรรยากาศที่สนุกสนานให้กับเมือง และกระตุ้นแนวคิดการมีสุขภาพดี โครงการ Vélo’v นี้ถือเป็นโครงการแรกที่ประสบความสำเร็จในยุโรปหลังจากโครงการ Vélos Jaunes ในเมือง La Rochelle เมื่อปี 1974 และยังเป็นแรงบันดาลใจโครงการอื่นๆ อีกมากมายในเมืองต่างๆ โครงการที่เมือง Lyon นี้ครองอันดับ 2 ของระบบจักรยานสาธารณะที่มีผู้ใช้ในตลาดสูงสุด (1 คันต่อผู้ใช้ 121 คน) ทางฝั่งยุโรป รองลงมาจาก Velib’ ที่ปารีส
Velib’ ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2007 จากการประสบความสำเร็จของ Vélo’v โดยมีจักรยานอยู่ในระบบถึง 18,000 คัน ในปีแรกที่เปิดตัวสามารถทำยอดการใช้ไปได้ 20 ล้านรอบ หกปีต่อมายอดอยู่ที่ 173 ล้านรอบ ระบบของ Velib’ ที่ปารีส มีผู้ใช้สูงสุดในโลกเป็นอันดับที่หก (1 คันต่อผู้ใช้ 97 คน) รองจากอีกห้าเมืองในประเทศจีน
ปัญหาของ Velib’ โดยส่วนใหญ่ก็เช่นเดียวกับที่อื่น คือในปีแรกที่เปิดตัวมีจักรยานถูกขโมยไปถึง 3,000 คัน ในปี 2009 ที่ผ่านมีจักรยานค้างอยู่ในระบบทั้งหมด 20,600 คัน กว่า 80% หรือ 16,000 คันที่ต้องได้รับการเปลี่ยนเพราะถูกทำลายหรือสูญหาย (หายไปกว่า 8,000 คัน) ซึ่งเกิดจากปัญหาสังคมภายในของฝรั่งเศส ที่ชาวชนบทในเมืองอื่นๆ โจมตีผู้ให้บริการ Velib’ ว่ามีแต่ในเมืองปารีสเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นเมืองหลวง กลุ่มชาวเมืองชนบทไม่มีโอกาสได้ใช้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ค้างคาและฝังรากลึกมานาน แต่ทาง Velib’ สามารถพยุงตัวไว้ได้เมื่อสถานการณ์เริ่มเบาลงเพราะเร่ิมกระจายระบบนี้ไปยังเมืองอื่นรอบๆ และเริ่มทำกำไรได้มากขึ้นจากการให้บริการในสามปีให้หลัง
อีกหนึ่งระบบในอีกเมืองที่น่าสนใจคือ Barclays Cycle Hire ของลอนดอน ประเทศอังกฤษ ภายใต้การดูแลของบอริส จอห์นสัน ผู้นำของเมืองขณะนั้น มีจุดประสงค์เพื่อทดแทนการใช้รถแท็กซี่และรถประจำทาง ผู้ให้บริการระบุว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้จักรยานทั่วไปมีมากกว่าผู้ใช้จักรยานของ Barclays Cycle Hire ถึงสามเท่า ล่าสุดในปี 2012 มีบันทึกว่าจักรยานกว่า 47,105 คันถูกใช้ภายใน 1 วัน
สำหรับปันปั่นภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร ถือกำเนิดขึ้นเพื่อลดการจราจรติดขัดภายในกรุงเทพฯ อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของเมืองและการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร นอกจากนี้ยังต้องการลดสภาพเมืองเสื่อมโทรมและปัญหาด้านมลภาวะที่บั่นทอนชีวิตคนกรุงเทพฯอีกด้วย ปันปั่นจึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟใต้ดิน รวมถึงรถขนส่งมวลชนสาธารณะอื่นๆ

กลับมาที่ตัวทฤษฎี Hussel อธิบายว่าความสำคัญของกระบวนการใดๆ ขึ้นอยู่กับจิตหรือปัญญาของมนุษย์ ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากสมมติฐานหรือสาเหตุของกระบวนการแต่อย่างใด เราจึงต้องศึกษาสาระสำคัญของการปรากฎตัวขึ้นมาของระบบจักรยาน “ปันปั่น” ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
กล่าวคือ ในครั้งแรกที่มีระบบการคมนาคมเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาอย่างจักรยานถูกมองว่าเป็นพาหนะที่ไม่ได้มอบความสะดวกสบายได้มากที่สุดหากลองเปรียบเทียบกับรถ ผู้คนในยุคก่อนจึงเลือกใช้พาหนะที่ไม่ต้องเสียแรงกว่าอย่างรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ หรือระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ แต่ในปัจจุบัน กระแสการรักษ์โลกและกระแสรักสุขภาพถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับสภาพสังคมที่ผู้คนให้ความสนใจกับตัวตนของตัวเองมากกว่าส่วนรวมมากขึ้น การขี่จักรยานจึงกลับมาเข้าอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง
หากพิจารณาตามแนวความคิดของ อัลเฟรด ชุตต์ ในแง่ของทฤษฎีปรากฏการณ์นิยมจะพบว่า
1) ธรรมชาติของมนุษย์เป็นนักสร้างสรรค์ ชุตต์อธิบายว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างและกำหนดความหมายของสิ่งต่างๆ ทั้งที่วัตถุและไม่ใช่วัตถุ ดังนั้น เมื่อเราให้คุณค่ากับสภาวะติดขัดของการจราจรว่าเป็นปัญหา มนุษย์จึงสรรหาแนวทางใหม่ๆ ในการลดทอนความขัดข้องดังกล่าว ที่ทั้งจะเป็นการตอบสนองความต้องการระดับปัจจเจกบุคคล และการเอาใจใส่ต่อสภาพแวดล้อมในอนาคตของโลก ระบบจักรยานสาธารณะจึงถูกคิดค้นขึ้นมาภายหลังจากการที่มนุษย์ตระหนักรู้ถึงความจำเป็นเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าเพราะมีระบบจักรยานสาธารณะ มนุษย์จึงรับรู้ว่าเราต้องให้ความใส่ใจกับเรื่องสุขภาพและลดปัญหามลภาวะ
2) ธรรมชาติของมนุษย์คือมนุษย์เป็นผู้สร้างสังคม เนื่องจากการอยู่ร่วมกันโดยสังคมใหญ่ ตั้งแต่สังคมครอบครัวไปจนถึงสังคมระดับประเทศ ทำให้ทั้สังคมเกิดการตระหนักรู้ร่วมกันถึงปัญหา จนนำไปสู่การก่อตั้งโครงสร้างระบบจักรยานสาธารณะ ผ่านการองผิดลองถูกต่างๆ จนได้มาซึ่งระบบที่ค่อนข้างจะมีเสถียรภาพในปัจจุบัน สังคมลักษณะนี้จึงถูกสร้างขึ้นมาด้วยมนุษย์ ที่เป็นคนเลือกปฏิบัติการกระทำต่างๆ ต่อกัน ให้ความหมายและสร้างสรรค์สังคมขึ้นมา แม้แต่กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยต่อระบบ (กรณีที่ขโมยและทำลายจักรยาน) ก็เป็นผู้ร่วมก่อสร้างความหมายของสังคม ให้มองเห็นจุดบอด จุดบกพร่องและทำการแก้ปัญหา พาระบบไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิม
3) หน้าที่ของสังคมวิทยาคือการศึกษาถึงการสร้างสังคม และแนวทางการบำรุงรักษาสังคม เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในระบบ ทุกฝ่ายร่วมกันตรวจสอบและตั้งคำถาม อุดรอยรั่วต่างๆ เพื่อให้ระบบมีเสถียรภาพในการมีชีวิตรอดให้ได้ยาวนานมากที่สุด เป้าหมายของการสร้างระบบนี้โดยส่วนใหญ่ก็เพื่อลดทอนการติดขัดของจราจร และการลดมวลสภาวะมลพิษ ทำให้เกิดการสร้างระเบียบสังคมอย่างการใช้จักรยานสาธารณะนี้ขึ้นมา
4) ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมวิทยา ควรใช้วิธีการมานุษยวิธี (Ethnomethodology) ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทางการสร้างระบบนี้คือความขัดข้องและการเพิ่มขึ้นของการขโมยและการทำลายจักรยาน อันเป็นผลมาจากปัญหาภายในของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการจัดวางระบบที่ไม่รอบคอบและไม่มีการตรวจสอบ พร้อมกับการไม่มีตัวประกัน (เงินมัดจำ/ค่าปรับ) ต่อเมื่อเกิดปัญหาจนต้องหาแนวทางแก้ไข ระบบจึงหยุดชะงักไปชั่วขณะ (การยุบระบบ) แล้วจึงไปศึกษาสภาพสังคมและปัจจัยเกี่ยวข้องต่างๆ พิจารณากฎเกณฑ์ที่ควบคุมสังคมอยู่ในขณะนั้น เพื่อหาวิธีการและแนวทางที่จะทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจได้มากที่สุด และต่อชีวิตให้ระบบจักรยานสาธารณะสามารถมีอยู่ต่อไปได้
สรุปคือ หากมองตามแนวคิดปรากฎการณ์นิยม ความคิดในการจัดตั้งระบบจักรยานสาธารณะ ไปจนสู่ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบนั้น มีต้นตอมาจากความคิดและปัญญาของมนุษย์ โดยไม่มีสภาพแวดล้อมมาเกี่ยวข้อง เพราะมนุษย์เป็นผู้กำหนดกระทำให้เกิดระบบอะไรบางอย่างขึ้นในสังคม เป็นหนึ่งในผู้สร้างสังคมขึ้นมาโดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก ใช้เพียงความคิดของตนในการจัดการสร้างสรรค์และแก้ไขปัญหา ปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือการกระทำระหว่างกันของมนุษย์ในสังคม (การขโมย การทำลาย การต่อต้านผ่านการกระทำ) และการสร้างความหมายของมนุษย์คนอื่นๆ (ภาวะโลกร้อน การมีสุขภาพดี การลดปัญหาจราจรติดขัด) ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะมนุษย์เป็นผู้ก่อสร้างสังคม และร่วมกันรักษาให้สังคมนั้นอยู่ต่อไปได้ เป็นความสำคัญของปรากฏการณ์ที่มนุษย์ร่วมกันสร้างสรรค์และกำหนดความหมายขึ้นมาด้วยตนเอง.