
บทวิเคราะห์ข่าว:แท๊กซี่ขอปรับขึ้นค่าโดยสารร้อยละ 25-35
ปัญหาค่าบริการรถแท็กซี่ก่อตัวมาเมื่อหลายปีก่อนแล้วในประเทศไทย พร้อมๆ กับการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน ที่มีสาเหตุมาจากปัญหาใหญ่คือการขาดแคลนทรัพยากรน้ำมันของโลก
ตั้งแต่กระแสภาวะโลกร้อนก่อตัวขึ้นมา ปัญหาการขาดพลังงานทดแทนในหลายๆ ด้านก็ตื่นตัวขึ้นมาอย่างกะทันหันเช่นกัน จนทำให้เกิดผลกระทบจำนวนมาก ทั้งการค้นหาพลังงานทดแทนใหม่ การวางแผนการผลิตพลังงานทดแทน การก่อตั้งองค์กรต่างๆ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรด้านสิ่งแวดล้อม การรณรงค์ให้ประหยัดพลังงานเพื่อลูกหลานในอนาคต ไปจนถึงการหันมาใช้แนวทางด้านอื่นในการใช้พลังงานดังกล่าวเพื่อลดการใช้ที่มากขึ้นเรื่อยๆ (เช่น ในกรณีรถแท็กซี่ค่าบริการไม่เพียงพอต่อผู้ประกอบอาชีพ ก็ให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการสาธารณะอื่นแทน เป็นต้น)
แต่ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นแผนการระยะยาว ที่จำเป็นต้องใช้การวางแผน การศึกษา การวิจัย และความร่วมมือจากส่วนต่างๆ จำนวนมาก จึงไม่อาจเห็นผลได้ในเวลาไม่กี่วัน ดังนั้น สิ่งที่ประชากรโลกต้องรับมือคือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการขึ้นราคาน้ำมันเพื่อป้องกันการใช้งานโดยฟุ่มเฟือยของผู้อุปโภคจำนวนมาก (และมากขึ้นเรื่อยๆ)
แน่นอนว่าการคมนาคมสมัยนี้เป็นหนึ่งในสิ่งจำเป็นของชีวิตมนุษย์ ระบบสังคมสร้างให้เราต้องเดินทางไปยังที่ต่างๆ แค่การเดินทางจากบ้านไปที่ทำงานในแต่ละวันก็เสียน้ำมันไปแล้วไม่รู้กี่ลิตร การขึ้นราคาน้ำมันเพียงไม่กี่บาทนั้นจึงส่งผลต่อทั้งระบบเศรษฐกิจระดับมหภาค ไม่ใช่แค่ว่าเราต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นไม่กี่บาท
ดังนั้น หากมองจากมุมมองของผู้ประกอบการรถแท็กซี่ จึงเป็นเรื่องจำเป็นของชีวิตและครอบครัว ที่หากการทำงานไม่สามารถเลี้ยงชีพได้อย่างเหมาะสม การประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่จึงอาจกลายเป็นงานที่สร้างภาระและความลำบากมากกว่าจะช่วยเหลือให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น จนนำไปสู่การเรียกร้องให้ปรับราคาเพิ่มขึ้น
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประกาศให้มีการปรับราคาแท็กซี่ขึ้นเป็น 2 ระยะ คือระยะแรกปรับขึ้น 8% ในเวลาหกเดือน จากนั้นจะดูสถานการณ์และกระแสตอบรับ หากมีผลตอบรับที่ดีและสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง ก็จะปรับขึ้นให้อีกเป็น 13%
ทั้งนี้การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ตัวเลขรายได้ของผู้ประกอบอาชีพคนขับรถแท็กซี่ และคำนวณดูแล้วว่าตัวเลขนี้คือตัวเลขที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำการปรับราคาให้ขึ้นอย่างยุติธรรม และไม่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป ซึ่งการปรับราคาขึ้นโดยแบ่งเป็น 2 ระยะแบบนี้นั้น อาจมีสาเหตุมาจากการต้องการให้ทุกๆ ฝ่ายได้มีเวลาปรับตัว ไม่ให้ระบบเศรษฐกิจผันผวนมากเกินไป และเป็นการทดลองตลาดผู้บริโภคดูด้วยว่าจะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร จะก่อปัญหาอันใดหรือไม่ นอกจากนี้ยังทำให้การปรับราคาในรวดเดียว ไม่ดูพุ่งขึ้นสูงมากเกินไปจนเป็นการเอาใจคนขับรถแท็กซี่อีกด้วย
อีกประเด็นหนึ่งที่คงจะมองข้ามไม่ได้ แม้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงนักก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ เป็นที่รู้กันดีว่าการใช้บริการรถแท็กซี่ผู้รับบริการต้องเจอกับสถานการณ์อะไรบ้าง ทั้งความไม่ปลอดภัย การถูกเอาเปรียบ การโกง หรือเรื่องของมารยาทต่อลูกค้า ซึ่งประเด็นเหล่านี้อาจมีผลกระทบหรือถูกยกมาเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธการใช้รถแท็กซี่ของผู้บริโภคในอนาคตได้
แต่ปรากฎว่าจากข่าวที่ยกตัวอย่างมา ข่าวระบุว่านายปฐวี มีราช ประธานศูนย์วิทยุนภาสยามเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาปรับค่าโดยสารแท็กซี่ขึ้นอีกร้อยละ 25-35 ซึ่งเป็นข้อสรุปจากการประชุมปฏิบัติการเมื่อปี 2551 ไม่ใช่ปรับขึ้นร้อยละ 13 เพราะยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง อีกทั้งปัจจุบันต้นทุนรถทั้งค่าเช่า ค่าซื้อรถและราคาก๊าซปรับเพิ่มขึ้นไปแล้ว
สาเหตุที่ต้องของปรับเพิ่มราคา อาจเกิดมาจากการปรับราคาในรูปแบบที่ประนีประนอมทั้งสองฝ่ายของรัฐบาล เพราะตัวเลขที่ปรับเพิ่มขึ้นมานั้นอาจทำให้แท็กซี่ยังไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างเท่าเทียม แต่รัฐบาลจำเป็นต้องค่อยๆ ปรับราคาขึ้นเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเกิดความไม่พอใจจนไม่ใช้บริการรถแท็กซี่ หรืออาจก่อให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงมากเกินไปก็เป็นได้
อีกเรื่องคือต้องลองมองไปที่มุมมองของผู้บริโภคว่าขณะนี้กลุ่มผู้ใช้บริการรถแท็กซี่มีจำนวนมากเท่าไหร่ เป็นกลุ่มคนระดับไหน รายได้เท่าไหร่ และใช้บริการบ่อยแค่ไหน การปรับขึ้นราคาสูงในระดับนี้จะส่งผลต่อจำนวนผู้ใช้บริการหรือไม่ และกลุ่มผู้ใช้บริการดังกล่าวมีกำลังจ่ายค่าบริการรถแท็กซี่ในราคาระดับที่ปรับเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสิ่งนี้ก็ต้องไปดูที่องค์ประกอบที่กว้างกว่านั้นด้วยว่า ระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ มีการพัฒนาไปแล้วมากน้อยแค่ไหน เทียบเท่าได้กับการพัฒนารถแท็กซี่หรือไม่ ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าบริการรถแท็กซี่มากน้อยแค่ไหน ส่งผลต่อความเสี่ยงด้านธุรกิจโดยรวมของประเทศอย่างไร และส่วนอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็คือทุกส่วน รัฐบาลจึงอาจตัดสินใจได้ลำบากในการขอปรับขึ้นราคาค่าบริการรถแท็กซี่ในส่วนนี้
ข่าวยังระบุอีกว่า นายปฐวี มีราช เชื่อว่าหากแท็กซี่ได้รับการปรับค่าโดยสารที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงแล้ว การปฎิเสธผู้โดยสารก็จะลดน้อยลง แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะหมดไปเนื่องจากการให้บริการของรถแท็กซี่มีทั้งรถ ส่วนบุคคลและรถเช่า
จุดนี้อาจจะมีปัญหามาจากระบบการให้บริการรถแท็กซี่ที่มีทั้งสองระบบ ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้รับทราบหรือไม่มีส่วนร่วมในระบบตรงนั้น (เช่น ผู้บริโภคไม่เข้าใจว่าทำไมต้องไปส่งรถ ทำไมบางคันถึงไม่ส่งได้ ทำไมบางคันถึงส่งได้ การส่งรถมีความสำคัญอย่างไรมากน้อยแค่ไหนต่อตัวคนขับรถ หรือเกี่ยวข้องอย่างไรกับสถานที่ที่ผู้ใช้บริการต้องการจะไป) ทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างสองฝ่าย รัฐบาลอาจจะต้องมาใส่ใจกับการให้บริการตรงนี้มากขึ้น เข้าไปตรวจสอบระบบของการรับ-ส่งรถ ว่ามีการจัดสรรเวลาอย่างไร ช่วงเวลาที่เลือกให้เป็นเวลารับ-ส่งรถนั้น มีความสอดคล้องกับช่วงเวลาของกลุ่มผู้ใช้บริการที่จะใช้บริการหรือไม่ ใครเป็นคนตัดสินใจหรือควบคุมส่วนนี้ ผลกระทบจากการที่คนขับแท็กซี่ไม่สามารถไปส่งรถได้ตรงเวลาอะไรจะเกิดขึ้น การเข้าไปดูแลตรงนี้และปรับปรุงให้มีความเหมาะสมกับผู้ใช้บริการมากขึ้นอาจแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ได้
ส่วนของข่าวที่ระบุว่า นายปฐวีไม่เชื่อว่าจะมีรถผ่านการปรับปรุงมาตรฐานและปรับมิเตอร์เพื่อพร้อมออกให้บริการภายในวันที่ 21 ธ.ค. จะเป็นไปได้นั้น เพราะว่าจำนวนรถแท็กซี่กว่า 80,000 คันจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาการปรับสภาพ น่าจะใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน ซึ่งผู้ประกอบการรถแท็กซี่ได้เสียค่าใช้จ่ายไปแล้วก่อนที่จะเริ่มทำการปรับราคา
ในส่วนนี้หากลองพิจารณาตามหลักการ อาจเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่สมเหตุสมผลนัก เพราะรถแท็กซี่จัดเป็นอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพของผู้ให้บริการ ซึ่งผู้ให้บริการมีหน้าที่ทำให้อุปกรณ์นั้นอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานต่อตัวผู้บริโภคเสมอ ไม่ว่าจะมีการปรับราคาขึ้นหรือไม่ก็ตาม ไม่จำเป็นต้องรอการตรวจเช็คสภาพจากรัฐ แล้วนำมาใช้เป็นข้ออ้างขอขึ้นราคาค่าโดยสาร เพราะต้นทุนในส่วนนี้อาจเป็นต้นทุนส่วนที่ผู้ให้บริการต้องรับผิดชอบด้วยตนเอง เป็นเรื่องของจรรยาบรรณการประกอบอาชีพโดยทั่วไป
ส่วนสุดท้ายของข่าวที่ระบุว่าการปรับราคาขึ้นแท็กซี่ครั้งที่สองยังไม่มีผู้รับผิดชอบ และการปรับขึ้นราคาที่ผ่านมาผู้ประกอบการเป็นผู้รับภาระเองนั้น อาจเกิดจากการไม่ทำความเข้าใจอย่างแท้จริงระหว่างสองฝ่าย ที่ต้องทำข้อตกลงทางกฎหมายให้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบอะไรและในส่วนไหนบ้าง เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับทุกฝ่าย ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นต้องใช้การติดต่อสื่อสารกันอยู่บ่อยครั้งระหว่างสองฝ่ายเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อผู้บริโภค และที่ผ่านมาการใส่ใจในปัญหานี้อย่างจริงจังอาจยังไม่เกิดขึ้นในสายตาของฝั่งรัฐบาลก็เป็นได้
ข่าวนี้เกิดขึ้นเพราะปัญหาในส่วนของปัจจัยภายนอกส่วนหนึ่ง อันเป็นเรื่องที่คนในสังคมต้องช่วยกันปรับตัวและทำความเข้าใจซึ่งกันและกันไปพร้อมๆ กับการแก้ปัญหา โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกันของทั้งสองฝ่าย ตั้งเป้าหมายร่วมกันให้ตรงจุดว่าต้องการแก้ไขในส่วนไหนกันแน่ เพราะปัญหาอย่างปัจจัยภายนอกที่พลังงานทดแทนขาดแคลนนั้นอาจแก้ไขในส่วนนี้ไม่ได้ เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าในองค์ประกอบอื่นๆ ของสังคม
ส่วนปัจจัยภายใน อันเป็นปัจจัยที่ทุกฝ่ายสามารถจัดการแก้ไขได้นั้น ทุกฝ่ายควรทำความเข้าใจในกันและกันให้โดยละเอียด ส่วนที่มีอำนาจดูแลต้องให้ความใส่ใจในทุกๆ รายละเอียดว่าหากทำสิ่งใดลงไปแล้วจะเกิดผลกระทบในด้านไหนบ้าง และให้แต่ละฝ่ายได้ส่งเสียงและรับฟังเสียงของคนอื่น เพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยได้มากที่สุด.