top of page

สิทธารถะ

เรื่องย่อ

 

          ชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อสิทธารถะ (ความหมายเดียวกับชื่อสิทธัตถะของพระพุทธเจ้า) เกิดมาในวรรณะพราหมณ์ ตั้งแต่เด็กได้ศึกษาวิชาความรู้จนแตกฉานได้รับการยกย่องจากทุกคนในกลุ่มครอบครัวตระกูลพราหมณ์ด้วยกัน ไม่ว่าใครเห็นต่างก็หลงรักและศรัทธา เป็นผู้ที่ทำให้คนอื่นเบิกบานทุกครั้งที่พบ แต่ภายในจิตใจของสิทธารถะกลับไม่รู้สึกเบิกบานตามคนเหล่านั้นเลย เพราะเริ่มมีความคิดว่านี่ไม่ใช่ความสุขที่จริงแท้และยั่งยืน จึงออกเดินทางไปศึกษาความรู้กับสมณะ (ไม่ใช่นักบวชของพระพุทธเจ้า) พร้อมกับเพื่อนสนิทที่โตมาด้วยกันอย่างโควินทะ แต่ก็พบอีกว่าสมณะเหล่านี้ไม่ได้ศึกษาหนทางแห่งการหลุดพ้น กลับฝักใฝ่ศึกษาแต่เรื่องของวิชาอาคม เมื่อได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาอยู่ใกล้ๆ จึงชักชวนโควินทะให้ออกเดินทางไปหาพระพุทธเจ้าด้วยกัน

 

          เมื่อได้พบพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธาก็จริงอยู่ แต่กลับบอกกับพระพุทธเจ้าว่าการเดินตามทางของคนอื่นนั้นไม่ใช่หนทางสู่การหลุดพ้นของตน จึงตัดสินใจออกเดินทางต่อโดยไม่มีโควินทะติดตามมาด้วย หลังจากพูดคุยกับพระพุทธเจ้าไม่กี่ประโยค พอมามองธรรมชาติรอบกายก็รู้สึกเหมือนว่านี่เป็นครั้งแรกที่ตัวเองมองกิเลสในรูปแบบที่ต่างออกไปจากที่เคยเรียนรู้มา เขาเลิกเป็นสมณะ เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเมือง เรียนรู้วิชาการค้าจากพ่อค้าผู้ร่ำรวยอย่างกามสวามี และเรียนรู้อารมณ์ด้านความรักจากกมลาสาวงามเมือง ในตอนแรกยังพอควบคุมตัวเองได้ แต่ไม่นานนักก็กลายเป็นมัวเมากิเลสตัณหาทุกชนิด ทั้งเงินตรา สุรา นารี การพนัน จนพอรู้สึกตัวก็เกลียดตัวเองจนเกือบจะฆ่าตัวตาย

 

         สิทธารถะตัดสินใจออกจากเมืองและมาอาศัยอยู่กับชายแจวเรือรับส่งคนข้ามฟากแม่น้ำชื่อวาสุเทพ และได้พบว่าชายแจวเรือผู้นี้มีความเข้าใจโลกและกลายมาเป็นครูผู้สอนสั่งเขาให้ก้าวเข้าสู่โลกแห่งการหลุดพ้นได้โดยสำเร็จ

 

ประเด็นที่ได้จากหนังสือ

             

          หนทางแห่งการหลุดพ้นที่แท้จริง

 

          ตอนที่ได้พบกับพระพุทธเจ้านั้นสิทธารถะได้ชี้แจงความคิดเห็นของตนก่อนตัดสินใจออกเดินทางตามลำพังว่า

 

          “...พระองค์ทรงบรรลุก็โดยการแสวงหาตามวิธีของพระองค์เอง โดยการคิด โดยการบำเพ็ญเพียร โดยความรู้และการตรัสรู้ พระองค์ไม่ได้เรียนจากการสอน ด้วยเหตุนี้แหละ พระสมณะโคดม ข้าฯ จึงคิดว่าไม่มีผู้ใดพบทางหลุดพ้นโดยการเรียนจากคำสอน ข้าแต่สัพพัญญูพระพุทธเจ้า พระองค์ไม่อาจถ่ายทอดสิ่งที่บังเกิดขึ้นกับพระองค์ในชั่วโมงแห่งการตรัสรู้โดยการใช้ถ้อยคำและคำสอน พุทธธรรมครอบคลุมกว้างขวางมาก สอนมาก สอนว่าเราจะอยู่ให้ถูกต้องได้อย่างไร จะเลี่ยงความชั่วได้อย่างไร แต่มีสิ่งหนึ่งที่คำสอนอันแจ่มกระจ่างและทรงคุณค่านี้ไม่ได้พูด คือความลับที่พระโคดมทรงประสบด้วยพระองค์เอง ลำพังเพียงพระองค์เท่านั้นในบรรดาคนนับพันนับหมื่น...”

 

          ด้วยข้อสังเกตอันนี้เองที่ทำให้สิทธารถะตัดสินใจเลือกออกเดินทางไปตามลำพัง เพื่อใช้ชีวิตและหาประสบการณ์ต่างๆ ภายใต้ความคิดที่ว่าไม่มีใครสามารถสอนเขาได้ในการที่จะเข้าถึงสัจธรรม ประเด็นหนึ่งที่เห็นได้ชัดในตรงนี้และทำให้นวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่นวนิยายอิงพุทธประวัติ แต่ยังเป็นหนังสือที่แฝงปรัชญาในเรื่องแนวทางของการใช้ชีวิตด้วยก็คือการตั้งคำถามกับวิธีการเดินทางให้ไปถึงจุดมุ่งหมายในชีวิตของแต่ละคน เพราะสิ่งที่คนรุ่นหลังได้รับสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบันนั้น ศาสนาพุทธถ้าไม่ถูกทำให้มีภาพลักษณ์ที่แย่ด้วยการวางตัวของเหล่าบริวารแห่งศาสนาหรือการใช้ศาสนามาเกี่ยวข้องกับการค้า ก็จะเป็นเรื่องของแนวทางหลักปฏิบัติ (ที่เชือกันว่าสืบทอดส่งต่อมาจากสมัยพุทธกาล) เต็มไปด้วยกฎระเบียบและหลักปฏิบัติที่เคร่งครัด นวนิยายเรื่องนี้จึงตั้งคำถามกับความเชื่อดังกล่าวว่าจำเป็นด้วยหรือที่ต้องเดินตามเส้นทางที่เชื่อกันว่าพระพุทธองค์ทรงชี้นำ หรือต้องบวชเป็นพระเท่านั้นถึงจะเข้าถึงหลักธรรมได้

 

          สิ่งที่เรื่องนี้ให้คำตอบไว้ก็คือความจริงชัดเจนที่ว่าไม่ต้องบวชเป็นพระก็สามารถเข้าถึงหลักธรรมได้ การอุทิศตัวเป็นสาวกให้พระพุทธเจ้านั้นเป็นเพียงการเอื้อประโยชน์บางอย่างให้เหล่าผู้ศรัทธา และช่วยเหลือพระพุทธเจ้าในการเผยแพร่ศาสนาที่พระองค์ทรงก่อตั้งขึ้นมาเท่านั้น ส่วนเนื้อหาในหลักธรรมทุกผู้ทุกคนสามารถเอาไปใช้ได้ในรูปแบบของตัวเองโดยไม่ยึดติดมากเกินไป เรื่องยังนำเสนอให้ลำดับชีวิตของพระพุทธเจ้าและสิทธารถะว่ามีรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างเปรียบเทียบได้อีกด้วยว่า พระพุทธเจ้านั้นเริ่มต้นมาในวรรณะกษัตริย์ พบเจอกิเลสทุกประการ เกิดความเบื่อหน่ายและต้องการตัดบ่วง จึงออกเดินทางเพื่อศึกษาเล่าเรียน บำเพ็ญเพียรอย่างผิดวิธีแล้วค่อยเข้าถึงธรรม ในขณะที่สิทธารถะนั้น เติบโตมาในวรรณะพราหมณ์ ได้รับการศึกษา ออกเดินทางบำเพ็ญเพียรแต่ก็ไม่สำเร็จ พบเจอกิเลสจนทำให้ตัวเองเสียศูนย์ พบเจอการตัดบ่วง (มีลูกกับกมลา) แล้วค่อยเข้าถึงธรรม

 

          นวนิยายจึงสะท้อนให้เห็นถึงเส้นทางที่แตกต่างกันของแต่ละคน การตัดสินใจเลือกทางเดิน และการไปถึงจุดหมายโดยไม่จำเป็นต้องเดินตามทางของคนอื่นนั่นเอง

 

          คำสอนจากสายน้ำ

 

          ในช่วงที่อาศัยอยู่กับวาสุเทพชายแจวเรือนั้น สิ่งที่ทำให้สิทธารถะได้เรียนรู้จนสามารถเข้าถึงธรรมได้ก็คือสายน้ำนี่เอง หนึ่งในนั้นคือเรื่องของธรรมชาติของน้ำที่ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็จะไหลลงจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเสมอ สาเหตุของมันก็คือการหยั่งรู้ความลึกตื้นในใจตน สิทธารถะได้คิดว่าตั้งแต่เกิดมานั้น เขาถูกผลักให้สูงขึ้นไป สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เข้าสู่พลังงานอันดีงามและสดใสมาตลอด แต่ไม่เคยรู้เลยว่าภายในจิตใจตนเองนั้นมีความลึกมากเพียงไร สามารถจมปลักอยู่กับกิเลสในระดับที่ลุ่มหลงมัวเมาได้มากขนาดไหน ทำให้ไม่มีความแข็งแรกเพราะรากฐานของจิตใจไม่มั่นคงในอีก (ผิดกับพระพุทธเจ้าที่เติบโตมาอยู่บนกิเลสทุกอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะมีได้ จึงก้าวข้ามส่วนนี้ไปเข้าสู่ขั้นตอนแห่งการบำเพ็ญเพียรได้เลย) สายน้ำจึงได้สอนสิทธารถะว่าสุดท้ายแล้วทั้งหมดในชีวิตมนุษย์คือพื้นฐานของจิตใจนั่นเองว่ามีแข็งแกร่งมากเพียงใด เข้าใจตนมากเพียงใด จึงจะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยไม่หลงทางได้

 

          อีกเรื่องหนึ่งที่สายน้ำสอนก็คือความเป็นหนึ่งเดียวกันของกาลเวลา ในนวนิยายเรื่องอื่นอาจมีการตั้งคำถามกันว่าเวลาเดินทางเป็นเส้นตรงหรือเป็นวงกลม เดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ หรือจะซ้ำรอยตลอดไปกันแน่ เฮอร์มาน เฮสเสแสดงออกทางความคิดในเรื่องนี้ผ่านสายน้ำเอาไว้ว่าเวลานั้นมีอยู่ชั่วขณะเดียว เฉกเช่นสายน้ำที่แม้มนุษย์เราจะกำหนดให้มีต้นน้ำหรือปลายน้ำ แต่สิ่งที่แม่น้ำแสดงออกคือการไหลต่อเนื่องไปไม่หยุดยั้ง มีอยู่ทุกที่ในทุกขณะ ไม่อาจแบ่งแยกได้ เช่นเดียวกับกาลเวลาที่ไม่มีอดีตหรืออนาคต มีแต่ปัจจุบันขณะที่รวบรวมความเป็นเราเอาไว้โดยสมบูรณ์พร้อม ไม่มีการแบ่งแยก เราในตอนเด็กก็เป็นส่วนหนึ่งของเราในขณะนี้ เราในปัจจุบันขณะก็กำลังประกอบสร้างขึ้นมาเป็นเราที่จะเป็นต่อไปในอนาคต ดังนั้นกาลเวลาจึงไม่อาจแบ่งแยกได้และไม่มีอยู่จริง

 

           “...มีแม่น้ำอยู่ทุกที่พร้อมๆ กัน มีอยู่ที่ต้นน้ำ ที่ปากน้ำ ที่น้ำตก ที่ท่าน้ำ ในสายน้ำในมหาสมุทร บนภูเขา และทุกๆ ที่ ปัจจุบันคือปัจจุบัน ไม่ใช่เงาของอดีต ไม่ใช่เงาของอนาคต”

 

          แต่ละคนมีทางเดินชีวิตของตัวเอง

 

          ตอนท้ายเรื่องมีการอ้างถึงการเสด็จดับขันธ์ของพระพุทธเจ้า ฝูงชนจำนวนมากเดินทางไปพบพระพุทธองค์ก่อนหมดอายุขัย ทำให้สิทธารถะและวาสุเทพต้องพายเรือข้ามฝากคอยเดินทางส่งคนเหล่านี้ และหนึ่งในนั้นก็คือกมลากับลูก (สิทธารถะไม่รู้มาก่อนว่าตนมีลูก) การณ์กลับกลายเป็นว่ากมลาถูกงูพิษกัดขณะอยู่ในที่พักของสิทธารถะและวาสุเทพ ถึงแก่ความตาย ทิ้งลูกชายเอาไว้กับพ่อที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอยู่จริง เด็กคนนี้กลายมาเป็นบ่วงตัวสำคัญที่สุดของสิทธารถะในตอนท้าย เพราะเขาไม่ยอมปล่อยลูกชายให้กลับบ้านไปอยู่ในเมือง เด็กชายทำตัวไม่ดีสารพัดอย่างเป็นการแสดงออกถึงความไม่ต้องการจะอยู่กับชายที่มีคนบอกว่าเป็นพ่อ แต่สิทธารถะกลับทำประหนึ่งหูหนวกตาบอกไม่เห็นความจริง จนวาสุเทพต้องเตือนว่า

         

          “...คุณคิดว่าคุณกำลังทำหน้าที่คุ้มกันลูกจากสิ่งเหล่านี้ใช่ไหม คุณคิดว่าคุณจะปกป้องลูกจากวัฏสงสารได้หรือ จะทำได้อย่างไรเล่า คุณจะสอนให้แกสวดมนต์ หรือจะเคี่ยวเข็ญแนะนำล่ะเพื่อนรัก คุณลืมตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับสิทธารถะ บุตรพราหมณ์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเล่าให้ผมฟังตรงนี้แล้วหรือไร ใครล่ะที่ขัดขวางสิทธารถะจากสังสาระ จากความหยาบ ความโลภและความเขลา บุญกุศลของพ่อ คำพร่ำสอนของครู ความรู้ของเขาเอง การแสวงหาของเขา สามารถป้องกันเขาได้รึ พ่อคนใด ครูคนไหนเล่าที่สามารถกีดกันเขาจากการใช้ชีวิตของเขาเอง ขวางกั้นเขาจากการปลูกพืชพันธ์แห่งชีวิต ฉุดรั้งเขาจากการเกลือกกลั้วบาป ยับยั้งเขาจากการดื่มกินชีวิตตัวเองอย่างขมขื่น หรือขัดขวางจากการค้นหาหนทางของตัวเอง...”

 

          ด้วยลักษณะนี้เองสิทธารถะจึงได้กลายมาเป็นบุคคคลที่ขัดขวางลูกของตนจากการทำสิ่งที่ตัวเขาตั้งคำถามเกี่ยวกับมันมาตลอดชีวิต สิทธารถะไม่ยอมปล่อยให้ลูกได้มีชีวิตและเผชิญโลกในแบบของตนเอง บ่วงเรื่องลูกกลายมาเป็นบ่วงใหญ่สุดบ่วงสุดท้ายที่ขวางกั้นเขาจากการเข้าถึงสัจธรรมเอาไว้ จนกระทั่งลูกของเขาหนีไป บาดแผลจากการกระทำของลูกติดอยู่ในใจต่อมาอีกนาน จนเขาระลึกถึงพ่อของตนที่ตัวเองก็เคยกระทำการคล้ายคลึงแบบนี้เช่นเดียวกันตอนที่ตัดสินใจออกบวชเป็นสมณะ ทำให้เขาเข้าใจเรื่องของเวรกรรมโดยแท้จริง ว่าบทลงโทษนั้นไม่ใช่การตามติดมีผลไปทุกชาติภพ แต่คือการทิ้งรอยบาดแผลลึกเอาไว้โดยไม่ได้รับการเยียวยาจนกว่าตัวเองจะทำการเข้าใจได้ว่าทำอะไรลงไปในอดีตและจะเยียวยาอย่างไรนั่นเอง.

bottom of page