top of page

บทวิเคราะห์ข่าว:บทความ “ฮีทำไมต้องแห้ง”

สถานะทางอำนาจของหญิงชาย ผ่าน “หญ้าฮียุ่ม” และความพึงพอใจทางเพศ

 

           บทความที่ยกมาพูดถึง “หญ้าฮียุ่ม” ซึ่งตัวผู้เขียน (คำ ผกา) มองเห็นถึงประเด็นที่ซ่อนอยู่ในข่าวนี้อย่างหลากหลายแง่มุมด้วยกัน

 

           นัยยะซ่อนเร้นหลักของข่าวนี้เกิดจากการตั้งชื่อหญ้าดังกล่าว ที่แอบแฝงประเด็นการปลูกฝังทางวัฒนธรรมเรื่องความแตกต่างและความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศชายและเพศหญิง ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานคงมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ถือกำเนิดเพศสองเพศนี้ขึ้นมาเลยทีเดียว 

 

           มีหลายสาเหตุด้วยกันที่ความแตกต่างด้านเพศสภาพเป็นตัวกำหนัดหลักปฏิบัติหลายๆ อย่างในสังคมตั้งแต่สมัยอดีตครั้งบรรพกาลมาจนถงยุคปัจจุบัน ทั้งความแตกต่างด้านสรีระ ลักษณะนิสัย ความสามารถในการให้กำเนิด การตีความตามความหมายทางสัญญะร่างกายของการมีเพศสัมพันธ์ สมรรถภาพทางร่างกายหรือความแข็งแรงทางจิตใจ ประเด็นนี้ในสังคมถูกทำให้เป็นเรื่องปกติที่ไม่ต้องจัดการอะไรมาหลายร้อยหรืออาจจะหลายพันปี จนช่วงยุคสมัยใหม่มานี้เองที่แนวคิดสิทธิสตรีเริ่มถือกำเนิดขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรมและได้รับการเอาใจใส่ แม้จะยังไม่ใช่ทุกๆ ภาคส่วน แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี

 

           คงต้องวิเคราะห์กันดูก่อนว่าเพราะเหตุใด สภาวะความแตกต่างระหว่างชายหญิงจึงเกิดขึ้นในสังคม ตั้งแต่ในอดีตกาล ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคสภาวะชายเป็นใหญ่ (Parchiatry) มีบางทฤษฎีเชื่อว่ามียุคหญิงเป็นใหญ่ (Marchiatry) มาก่อนหน้านั้นนานแล้วในสมัยบรรพกาล สังเกตุจากการที่เทพเจ้าในอดีตมักเป็นหญิง (ไกอา มารดาของซุส คือพระแม่ธรณีผู้ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่ง) ชนเผ่าแอมะซอนที่มีผู้นำชนเผ่าเป็นหญิง ความเชื่อเรื่องแม่มด ความสามารถในการให้กำเนิดบุตร และอื่นอีกมากมาย  แต่เรื่องเหล่านี้ถูกแนวคิดของพวกนักปรัชญาชาวกรีก (ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย) ล้มล้างความเชื่อดังกล่าวจนแทบไม่อาจตรวจสอบร่องรอยของมันก่อนหน้านี้ได้เลย

 

          Philosophy has mainly ignored the vast realm of suffering that has unfolded since it began, in division of labor, its long course. Hélène Cixous calls the history of philosophy a “chain of fathers.” Women are as absent from it as suffering, and are certainly the closest of kin.

 

           เมื่อเข้าสู่ยุคชายเป็นใหญ่ อันเป็นยุคที่สังคมเริ่มประกอบสร้างตัวตนผ่านวิทยาการความรู้ต่างๆ ที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นทีละเล็กละน้อย กาลเวลาได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการประกอบสร้างสังคมลักษณะนี้ให้ปลูกฝังอยู่ในคามเชื่อต่างๆ อย่างฝังรากลึก โดยมีตัวช่วยคือความคิดแนววิทยาศาสตร์และชีววิทยา หรือความเชื่อตามหลักเหตุผล ความแข็งแรงและระดับสติปัญญา ที่คนส่วนใหญ่ยอมรับว่าชายเหนือกว่าหญิง

 

           เรามักจะติดกรอบความคิดที่ว่า “เพศภาวะ” (Gender) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใน ตัวมนุษย์ตั้งแต่กำเนิด หรือมองว่าเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาให้แล้ว เป็นความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ หรือไม่ต้องตั้งคำถามกับมันอีก ความคิดในแนวนี้ส่งผลให้การศึกษาบทบาทผู้ชายและความเป็นชายในทางสังคมศาสตร์ ติดกับดักวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ โดยโจทย์การศึกษาและการวิจัยจะถูก สร้างขึ้นภายใต้กระบวนทัศน์ที่นำ “เพศภาวะ” ไปเป็นอันเดียวกับ “เพศสรีระ” และปล่อยให้เหตุผล แบบธรรมชาตินิยมเป็นตัวตัดสินความเป็นชายแบบสำเร็จรูป

 

           จากข้อความที่ยกมาจะเห็นว่าการศึกษาเรื่องความเป็นชายที่ผ่านมาตกอยู่ใต้แนวคิด “สารัตถะนิยม” หรือ Essentialism ที่ดร.นฤพนธ์ อธิบายว่าเป็นการมองดูความจริงเกี่ยวกับเพศภาวะของมนุษย์ผ่านเงื่อนไขทางร่างกาย ทั้งอวัยวะเพศ ฮอร์โมนเพศ ระบบการทำงานของร่างกายที่ส่งผลต่ออารมณ์ทางเพศ รวมไปถึงเชื่อว่า “สัญชาตญาณทางเพศ” (Sexual Instinct) เป็นสาเหตุที่ทำให้มนุษย์เพศชายและเพศหญิงแสดง พฤติกรรม อารมณ์ และตัวตนทางเพศไม่เหมือนกัน ความรู้ทางชีววิทยากลายเป็นคำตอบในตัวเอง ที่ทำให้การศึกษาความเป็นชายวนเวียนอยู่กับแค่เรื่องเพศสรีระเท่านั้น

 

 

           คำ ผกา บอกไว้ในบทความว่าเธอกระอักกระอ่วนใจที่ผู้หญิงไทยถูกเรียกร้องให้ต้อง “ยุ่ม” “ฮี” ของตัวเอง ทั้งด้วยการฝึกขมิบช่องคลอด ทั้งด้วยการใช้สมุนไพร หรือสารเคมีอื่นๆ

          ในแง่มุมเรื่องนี้หากลองสืบย้อนกลับขึ้นไป สภาวะทางร่างกายของหญิงชายไม่ได้ถูกกำหนดมาด้วยธรรมชาติ หรือสัญญะสากลใดๆ ที่มนุษย์ทุกคนเข้าใจได้ แต่เกิดจากการประกอบสร้างของคุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมอันหลากหลาย จนอาจจะเกินกว่าที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะเข้าใจ หนึ่งในคุณค่าทางสังคมของไทยที่ถูกปลูกฝังจนกลายเป็นค่านิยมทุกวันนี้คือ “ผู้หญิง” ถูกเรียกร้องให้ต้องมีอวัยวะเพศที่สุขภาพดี แห้ง ไม่เปียกชื้น และกระชับเพื่อตอบสนอง “ผู้ชาย” ดร.นฤพนธ์พูดถึงทฤษฎีบทบาททางเพศ (Sex Role Theory) ไว้อย่างน่าสนใจว่า

 

           การมองความเป็น ชายผ่านความมีเอกลักษณ์เชิงเดี่ยวในลักษณะนี้เป็นผลมาจากทฤษฎี “บทบาททางเพศ” และนำไปสู่การสร้างมายาคติว่าผู้ชาย/เพศชาย เป็นเพศที่ แข็งแรง และจะต้องแสดงอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง/เพศหญิง มายาคติดังกล่าวส่งผลให้การศึกษา ความเป็นชายมุ่งที่จะตอบโจทย์ความไม่เท่าเทียมทางเพศและอำนาจที่ผู้ชายใช้ควบคุมสังคม สมมุติฐานเรื่องเพศตรงข้ามและอำนาจที่ไม่เท่ากันระหว่างชายหญิงได้บดบังความเข้าใจเรื่องความ เป็นชายในมิติอื่นๆ และมองไม่เห็นคุณลักษณะเฉพาะที่เพศชายสามารถแสดงออกได้มากกว่า ความเข้มแข็งอดทน

 

           ประเด็นที่เรามองเห็นจากตรงนี้คือ การที่ผู้หญิงถูกเรียกร้องเพื่อให้สนองต่อผู้ชายนั้น เป็นหนึ่งในกระบวนการปรนเปรอเพศชายที่ถูกสังคมประกอบสร้างให้เป็นเพศที่ต้องเข้มแข็ง เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้นำ เป็นสามี เป็นพ่อ ต้องอดทนและกล้าหาญอย่างไม่อ่อนแอ ผู้ชายจึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องจากผู้หญิงนี้ได้เพราะสมอ้างว่าบทบาทของตนในสังคมนั้น ยิ่งใหญ่กว่า สำคัญกว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนสังคมอย่างมีพลังมากกว่า

 

          แต่ขณะเดียวกันจะมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดเฉพาะฝ่ายหญิงอย่างเดียวก็อาจไม่ถูกต้องนัก เพราะสังคม (ส่วนหนึ่ง) ก็เรียกร้องให้ผู้ชายต้องมีอวัยวะเพศที่ใหญ่ ยาว อึด ทน นาน เช่นเดียวกัน แต่ประเด็นส่วนนี้อาจจะมีเรื่องของอัตตาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็เป็นได้ เพราะเพศชายมีแนวโน้มที่จะอวดตัวว่าตนมีอวัยวะ/สมรรถภาพทางเพศที่ยอดเยี่ยม มากกว่าผู้หญิง ดังนั้นค่านิยมทางเพศของผู้ชายอาจเกิดมาจากความปรารถนาส่วนตนด้วยก็เป็นได้

 

           นัยยะซ่อนเร้นอีกอย่างหนึ่งคือ ลักษณะนิสัยของเพศหญิงที่ต้องการสร้างองค์ประกอบบางอย่างให้เพศชายพอใจ เป็นสัญญะที่สื่อว่าสังคมสร้างผู้หญิงให้ขาดผู้ชายไม่ได้ หรืออยู่ไม่ได้โดยไม่มีผู้ชายปกป้อง เพราะถูกสังคมหล่อหลอมทั้งในแง่การมีชีวิตคู่ที่ต้องเป็นสามีภรรยา มีลูก มีครอบครัว ถึงจะเป็นผู้หญิง (หรือชาย) ที่ประสบความสำเร็จ และในแง่ของการคุ้มครองตนเองด้วยร่างกายที่ถูกทำให้เชื่อว่าผู้หญิงไม่มีทางแข็งแกร่งเท่าผู้ชายได้

 

           สภาวะพึ่งพิงอาศัยกันระหว่างผู้ปกป้อง-ผู้ถูกปกป้องนี้จึงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมระหว่างสองเพศ เมื่อฝ่ายที่เข้มแข็งกว่าต้องกลายเป็นผู้ดูแล สภาวะทางอำนาจจึงเปลี่ยนตามไปด้วย ต้นตอของสาเหตุนี้อาจจะมีมาตั้งแต่สมัยอดีตที่อยู่ในระบบสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ชายเป็นผู้นำความคิด เป็นฝ่ายที่มีพละกำลังและความสำคัญมากกว่า ฝ่ายหญิงต้องเป็นฝ่ายที่คอยอยู่บ้าน ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้ชายในยามเหนื่อยล้าไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามเท่านั้น และผู้หญิงคนไหนที่มีทีท่าว่าจะเก่งมากกว่าชาย หรือฉลาดเกินไป อยู่ได้โดยลำพัง ก็จะถูกสังคมกล่าวว่า ติฉินนินทา แม้กระทั่งว่าถ้าสามีตายก่อนหญิงผู้นั้นก็จะถูกตราหน้าว่าเป็น “หญิงกินผัว” กลายเป็นหญิงม่ายที่น่าสงสาร เวทนา ทั้งที่ความตริงแล้วการที่สามีของเธอเสียชีวิตไม่เกี่ยวอะไรกับความสามารถในการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ของเธอ 

 

          ในสังคมตะวันตก ยุโรปช่วงยุคกลางเคยมียุคที่ถูกเรียกว่ายุคมืด เพราะเต็มไปด้วยการล่าแม่มดหมอผี จนมีหญิงสาวบริสุทธิ์กว่าสองแสนรายเสียชีวิต ซึ่งบางทฤษฎีของเรื่องนี้ตีความว่าหญิงเหล่านั้นมีความแตกต่างออกไปจากขนบของหญิงที่ควรจะเป็น สวยเกินไป มีเสน่ห์เกินไป ฉลาดเกินไป กล้าหาญเกินไป กล้าพูดกล้าคิด และไม่กลัวผู้ชาย จึงถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด จนกลายเป็นสภาพสังคมของยุโรปที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว

 

           อย่างในสำนวนไทย หรือสุภาษิตคำพังเพยต่างๆ ที่เราถูกปลูกฝังกันมา ก็เต็มไปด้วยคำจำนวนมากที่สะท้อนถึงความคาดหวังของสังคมที่มีต่อบทบาท/หน้าที่/พฤติกรรม/บุคลิกภาพของผู้หญิงและผู้ชายในสังคมไทยได้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น

 

“พรหมจรรย์เป็นสิ่งหวงแหนสำหรับลูกผู้หญิง” / “เป็นหญิงต้องรักนวลสงวนตัว” / “ผู้หญิงมีเสน่ห์ปลายจวัก ผัวรักจนวันตาย” /

“เป็นผู้หญิงจะเรียนไปทำไม แต่งงานแล้วก็เท่านั้น”/ “หญิงไทยมือก็ไกว ดาบก็แกว่ง” / “มีลูกสาวจะได้ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า” /

“ชายเป็นช้างเท้าหน้า หญิงเป็นช้างเท้าหลัง” / “มีลูกชายจะได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์” / “เป็นชายต้องอดทน อย่าให้ใครเห็นน้ำตา” /

“ต้องมีลูกชายไว้เป็นผู้สืบสกุล” / “ชายอกสามศอก” / “เรื่องการบ้านการเมืองเป็นของผู้ชาย ผู้หญิงเราไม่จำเป็นต้องรู้”

 

           ถ้อยคำเหล่านี้ล้วนเรียกร้องสภาพสภาวะบางอย่างของชายและหญิงในสังคมไทยแบบที่ควรจะเป็น ไม่ใช่แค่ฝ่ายหญิงเท่านั้นที่ถูกคาดหวังให้เป็นแม่บ้านแม่เรือน เรียบร้อย อยู่ในกรอบแต่ฝ่ายชายเองก็ถูกคาดหวังให้เป็น “ช้างเท้าหน้า” เป็นผู้นำที่ต้องเข้มแข็ง จะแสดงความอ่อนแอออกมาให้เห็นไม่ได้

 

           อย่างคำพูดในอดีตที่ว่า “เป็นผู้หญิงจะเรียนไปทำไม แต่งงานแล้วก็เท่านั้น” เป็นการสร้างทัศนคติให้ผู้หญิงเรียนรู้ที่จะไม่ต้องดูแลตัวเอง หรือสร้างสภาวะผู้หญิงจะดูแลตัวเองไม่ได้หากไม่มีสามี จึงกลายเป็นว่าผู้หญิงไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเองได้เลยหากไม่มีผู้ชาย/สามี ยิ่งเป็นการส่งเสริมสภาวะทางอำนาจของเพศชายมากขึ้นไปอีก

 

           นอกจากเรื่องนี้แล้วสังคมยังเรียกร้องความบริสุทธิ์จากฝ่ายหญิง ด้วยการวัดคุณค่าของหญิงผู้นั้นผ่านเยื่อพรหมจรรย์ ทั้งๆ ที่แม้ในขณะที่ผู้หญิงนั้นบริสุทธิ์จริง ก็อยู่ใต้ผู้ชายอยู่แล้วด้วยชนชั้นทางอำนาจ แต่หากพบว่าหญิงผู้ใดไม่ใช่หญิงบริสุทธิ์ มีราคี โดยที่ยังไม่มีสามีเป็นตัวเป็นตน หญิงผู้นั้นก็ถูกลดคุณค่าให้ต่ำต้อยไปเสียยิ่งกว่าเดิม เพราะถือว่ามีมลทิน ไม่ควรมีใครเข้าใกล้ ทั้งหมดนี้คือการสร้างผู้หญิงให้เป็นเหยื่อทางสังคมที่อ่อนแอกว่า ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

 

           ความเป็นหญิงหรือความเป็นชายในอุดมคติจึงถูกประกอบสร้างขึ้นมาเพื่อบีบบังคับให้คนในสังคมปฏิบัติตาม โดยสังคมใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ธรรมชาติจัดสรรมาให้ เป็นตัวกำหนดค่านิยามและความหมายต่างๆ อาจเพื่อไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอม ผิดไปจากวิถีปฏิบัติตามที่สังคมอารยะทั่วไปควรจะเป็นนั่นเอง

 

           เมื่ออิทธิพลของตะวันตกเริ่มมีมากขึ้น ในสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ความคิดเรื่อง “ศิวิไลซ์” และความเจริญกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และเป็นเงื่อนไขต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมในหลายเรื่อง ในมิติของเพศภาวะชาย หญิง ก็มีความพยายามที่จะส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงให้มีศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกับชาย รัชกาลที่ 4 ต้องการทำลายความหมายของประโยคที่ว่า “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน” โดยการ ยกเลิกการเอารัดเอาเปรียบผู้หญิง สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การแยกเพศภาวะชายหญิงให้แยกจากกัน ภายใต้ความคิดเรื่องความเท่าเทียมและศักดิ์ศรี สะท้อนว่าสยามในช่วงนั้นมีความอ่อนไหวต่อ โครงสร้างความสัมพันธ์ทางเพศแบบเก่าซึ่งให้อำนาจผู้ชายมากกว่าสตรี เพราะผู้หญิงชนชั้นล่างจะ ได้รับการปฏิบัติราวกับเป็น “วัตถุสิ่งของ” ที่ผู้ชายสามารถจะทำอะไรก็ได้ 

 

           ดร.นฤพนธ์อธิบายในส่วนนี้ว่าความพยามในครั้งนั้นของสังคมไทย อาจไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีความเข้าใจในเรื่องของสิทธิเท่าเทียมโดยแท้จริง แต่เป็นเรื่องของการต้องการยกระดับสภาพสังคมให้ดูเป็นอารยะและที่ยอมรับต่อสังคมตะวันตกมากขึ้น แต่โดยตัวภายในโครงสร้างไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปมากนัก เพราะจริงๆ แล้วสังคมตะวันตกเองก็มีลักษณะของความเป็นปิตาธิปไตยอยู่สูง แม้ไม่ได้อยู่ในลักษณะของระบอบการปกครอง แต่ก็แฝงอยู่ในทุกๆ เรื่องของสังคมเช่นเดียวกับเรา

 

           กลับมาที่เรื่องบทความของ คำ ผกา จนถึงปัจจุบันนี้เราอยู่ในสังคมที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากอดีตเกือบๆ จะใกล้เคียงกับคำว่าโดยสิ้นเชิง แต่ลักษณะชายเป็นใหญ่ก็ยังมีแฝงอยู่ในทุกระบบสังคม เพียงแต่มีผู้ที่กล้าต่อต้านและตั้งคำถามกับสภาพของระบบดังกล่าวมากขึ้นเท่านั้น

 

           จากความรู้เรื่อง “หญ้าฮียุ่ม” คำ ผกา บอกไว้ในบทความว่าความรู้ทางการแพทย์ปฏิเสธแนวคิดดังกล่าวของสังคมไทยในเรื่องของอวัยวะเพศหญิงโดยทันที เพราะการร่วมเพศขณะที่อวัยวะเพศแห้งนั้นจะทำให้เป็นสาเหตุของการมีบาดแผลและติดเชื้อโรค ยังไม่ต้องพูดถึงความพึงพอใจของหญิงที่มีต่อการร่วมเพศนั้นๆ อีกด้วย

 

           ทั้งที่เราอยู่ในยุคที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายในหลายๆ เรื่องได้แล้ว คำถามที่น่าสนใจคือวัฒนธรรมนี้จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ทั้งสองฝ่าย --ชายและหญิง-- จะสามารถทำความเข้าใจสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติได้หรือไม่ เพื่อประโยชน์ของตนเอง และเปลี่ยนทัศนคติดังกล่าวให้สอดคล้องกับความตระหนักรู้ที่เกิดขึ้นด้วย เพราะจากความรู้ทางการแพทย์ที่อธิบายแล้วว่าหากช่องคลอดของผู้หญิงไม่ทำการหล่อลื่นขณะร่วมเพศ แสดงว่าหญิงผู้นั้นไม่ได้มี “อารมณ์ร่วม” หรือความพึงพอใจที่จะทำการร่วมเพศกับชาย ซึ่งเรื่องนี้สามารถสะท้อนแนวคิดแฝงได้อย่างหนึ่งว่าผู้ชายไม่ได้สนใจ หรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของผู้หญิง มากไปกว่าความพึงพอใจของตนเอง

 

           ขณะที่ฝ่ายผู้หญิงจะสามารถทำความเข้าใจได้หรือไม่ว่า สัญญะทางกายภาพดังกล่าว ที่ตัวเธอตั้งใจจะทำเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของผู้ชายนั้น เป็นการแสดงออกว่าผู้หญิงให้คุณค่าความพึงพอใจของผู้ชายมากกว่าความพึงพอใจของตนเอง ซึ่งสื่อถึงว่าผู้หญิงนั้น “ยอมรับ” สภาวะทางอำนาจของผู้ชายที่เหนือกว่า และต้องการเป็นฝ่ายที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ชาย มากกว่าที่จะคิดว่าทั้งสองฝ่ายควรสร้างความพึงพอใจให้กันและกันอย่างเท่าเทียม

 

          แต่ส่ิงสำคัญที่สุดในประเด็นนี้ ไม่ใช่เรื่องของ “ฮี” ที่แห้งหรือไม่แห้ง ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครพอใจหรือไม่พอใจ สิ่งสำคัญที่สุด --อย่างที่ผู้เขียนทิ้งไว้ในบทความช่วงท้าย-- คือการรู้ตัวเองของทั้งสองฝ่าย ว่าทำอะไรไปเพื่อทำไม ไม่เช่นนั้นก็แสดงว่าสังคมหล่อหลอมเราเสร็จสมบูรณ์ จนเรากลายเป็นหุ่นยนต์ที่ทำงานตามระบบ และไม่เคยตั้งคำถามอะไรกับมันเลย.

bottom of page