
RELATIONSHIP
สัตว์จำพวกที่เรียกตัวเองว่ามนุษย์นั้น ถูกจัดให้อยู่ในสิ่งมีชีวิตประเภทสัตว์สังคมด้วยสาเหตุหลายปัจจัยแตกต่างกันออกไป ทั้งความคล้ายคลึงกันทางด้านกายภาพ ความสามารถในการติดต่อสื่อสารกันได้ด้วยวัจนภาษา และระดับสติปัญญาที่พัฒนาข้ามหน้าข้ามตาเกินสัตว์อื่นไปไกลโข
แต่หนึ่งในสาเหตุที่น่าสนใจคือความสามารถในการจินตนาการและคิดวิเคราะห์ (คำว่าจินตนาการในที่นี้ ผมขออนุญาตกำหนดความหมายให้เป็นแค่การคิดล่วงหน้า หรือการคาดเดาสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามหลักเหตุและผลเท่านั้นพอนะครับ) เมื่อมีความสามารถในการจินตนาการอย่างสูงส่ง จึงไม่ยากเลยที่มนุษย์เราจะถูกกระตุ้นจากสมองให้เกิดการกระทำบางอย่างตลอดเวลา หลายครั้งหลายคราที่ผลวิจัยต่างๆ รายงานออกมามากมายว่าคนเราเป็นสัตว์ที่ “คิดมาก” เกินไป และเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางด้วยเช่นกันว่าสิ่งที่ทำร้ายมนุษย์ได้มากที่สุดก็คือความคิดของตัวมนุษย์เอง
เมื่อคิดแทนได้จึงเกิดสิ่งที่ในภาษาพระคงเรียกว่า “เมตตา-กรุณา” กลายเป็นจิตเอื้อเฟื้อและปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ไม่อยากให้ใครมาเจ็บปวดแบบที่ตัวเองเคยเจ็บ หรืออยากให้ผู้อื่นได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแบบที่ตัวเองเคยได้ อาจเป็นเพราะตัวเองเคยผ่านประสบการณ์บางอย่างในอดีตมา หรืออาจเป็นเพราะความสามารถในการจินตนาการของตนว่าถ้าเกิดเรื่องอะไรบางอย่างกับเรา เราคงอยากได้รับการช่วยเหลือในรูปแบบที่เราต้องการแบบนั้นด้วยเหมือนกัน
ประเด็นตรงนี้ก็คือ มันคงมีประโยชน์อยู่มากทีเดียว ไอ้ความสามารถจินตนาการแทนคนอื่นของเราตรงนี้ เพราะบางครั้งมันก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในรูปแบบที่น่ามหัศจรรย์และควรได้รับการยกย่องสรรเสริญจากคนทั้งโลก แต่หลายครั้งเหลือเกินที่การคิดไปเองของเรานั้นทำร้ายเราจนเจ็บปวดแทบปางตาย เรามีความสามารถในการเห็นอกเห็นใจคนอื่น แต่เรากลับขาดความสามารถในการควบคุมความคิดที่ว่านั่น ลืมตัวไปว่าเรื่องทั้งหมดในหัวเรานั้นเป็นเพียงความน่าจะเป็น จนนอกจากจะทำร้ายตัวเองแล้วยังเผลอทำร้ายคนอื่นไปด้วยโดยไม่รู้ตัว ความสัมพันธ์ที่ควรจะไมใช่เรื่องยุ่งยากแต่อย่างใดจึงกลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนไปโดยปริยาย
ในคาบเรียนคราวที่แล้วมีเพื่อนพูดถึงการก้าวล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่ความทรงจำของคนอื่น ผมว่านั่นเป็นเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการคิดไปเองของมนุษย์ สมมติว่าในครั้งหนึ่งครั้งใดก็ตามของชีวิต เราอนุญาตให้ใครบางคนก้าวเข้ามา เราหลงลืมทุกอย่างแม้กระทั่งตัวเอง พอใครคนนั้นจากไปจึงเกิดพื้นที่รกร้างดังกล่าวไว้ในตัวเรา เราอาจจะเจ็บปวดเหลือแสน เราจึงเยียวยาตัวเอง และนั่นก็เป็นครั้งแรกที่เราได้เรียนรู้ ไม่ช้าเราจึงเติบโตในเรื่องความสัมพันธ์ และมีความกล้าที่จะก้าวเข้าไปในเขตแดนความทรงจำของคนอื่นบ้าง กล้าที่จะเข้าไปสร้างบาดแผลให้ใครคนอื่นเพียงเพราะคิดว่าเขาน่าจะทนพิษบาดแผลนั้นได้ เพื่อให้โอกาสเขาเติบโตเหมือนกับเรา เจ็บปวดเหมือนกับเรา มีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา
ผมอยากจะเชื่อว่าความจริงมนุษย์เราเป็นแบบนั้น ว่าความสามารถในการแบกรับความเจ็บปวดและเยียวยาตัวเองของคนเราแต่ละคนนั้นมีพอๆ กัน แต่สิ่งที่ผมเห็นมันไม่ใช่แบบนั้นเลย ขีดจำกัดเราไม่เท่ากัน ต้นทุนความแข็งแกร่งเราก็ไม่เท่ากัน ไม่มีอะไรบอกได้ว่าใครสักคนทนรับพิษบาดแผลได้มากขนาดไหน จินตนาการจึงทำงานผิดพลาดหรือเกินกำลังของมันไปตรงนี้นี่เอง
ทั้งหมดที่เขียนมานี้ผมหวังว่าคงมีสักย่อหน้าหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่อาจารย์ต้องการ ส่วนตัวผมแล้วไม่ได้คิดว่าความสัมพันธ์เป็นเรื่องซับซ้อนหรือยากเย็นอะไร แค่การพบเจอกันในช่วงเวลาขณะหนึ่งของคนสองคน เรียนรู้และตักตวงบางสิ่งบางอย่างไปจากกันและกัน แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องละเมียดละไมและได้รับการเอาใจใส่อย่างจริงจังในความสัมพันธ์รูปแบบใดๆ ก็ตาม แต่ไม่ช้าไม่นานชีวิตก็จะบอกให้เราเดินหน้าต่อไปเพื่อพบเจอความสัมพันธ์ใหม่ๆ ที่คงหนีไม่พ้นรูปแบบเดิมเท่านั้นเอง.