top of page

บทวิเคราะห์ข่าว:“เป็นไปได้น้ำมัน 40 เหรียญ เมื่อ ‘โอเปค’ เปิดศึกราคากับสหรัฐ” (ข่าวโดย นงนุช สิงหเดชะ ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 12-18 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 35 ฉบับที่ 1791 หน้า 51)

 

 

 

          บทความที่เลือกมาเป็นการวิเคราะห์ข่าวการประกาศของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ที่มีมติให้คงระดับการผลิตน้ำมันดิบเอาไว้เท่าเดิม คือที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยเป็นเวลาหกเดือน ผู้เขียน ในฐานะนักข่าวด้านเศรษฐกิจ (นสพ.มติชนรายวัน) ใช้ความรู้และการติดตามข่าวมาอย่างต่อเนื่อง มาเป็นตัววิเคราะห์ข่าวในประเด็นต่างๆ ตามที่ได้อธิบายไว้ในงานเขียน ดังนี้

 

          ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าสาเหตุหลักของปัญหาราคาน้ำมันดิบขณะนี้คือเศรษฐกิจโลกที่กำลังอ่อนแรงลง หมายถึงว่าการใช้น้ำมันในพื้นที่ต่างๆ  ในส่วนของการคมนาคมนั้นไม่กระเตื้องเท่าที่ควรอันเกิดมาจากหลายปัญหา ทั้งการต่อต้านรัฐบาลในประเทศต่างๆ สงครามระหว่างประเทศ ปัญหาด้านการเมือง และปัญหาด้านเศรษฐกิจในประเทศบางประเทศที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของโลก ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้บริโภคลดการใช้นำ้มันหรือลดค่าใช้จ่ายในด้านคมนาคมลงไปจากระดับสถานการณ์ปกติ อีกเรื่องก็คือความตระหนักรู้ในปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรพลังงานทดแทนต่างๆ

 

          เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกอ่อนแรงลง ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าความตั้งใจของผู้ส่งออกน้ำมันอย่างกลุ่่มโอเปคที่คาดว่าจะมีการใช้น้ำมันในระดับสูงนั้นจึงตกลงมา น้ำมันจึงเหลือค้างในตลาดและมีอยู่มากเกินความจำเป็น จนทำให้ราคาตกลงเพ่ือเร่งการใช้งานของผู้บริโภคทั่วโลก

 

          แต่แม้กลุ่มโอเปคจะทราบดีว่าราคาน้ำมันดิบกำลังจะตกลงมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังสั่งการให้มีการผลิตน้ำมันเอาไว้เท่าเดิมต่อไปอีกหกเดือน ไม่ได้ลดสัดส่วนการผลิตลงแต่อย่างใด ซึ่งผู้เขียนอธิบายในส่วนนี้ไว้ว่าเป็นการป้องกันการผลิตน้ำมันออกมาแข่งหรือแย่งลูกค้าในตลาดของทางฝั่งสหรัฐอเมริกา

 

          ผู้เขียนใช้ความรู้ทางเศรษฐกิจมาวิเคราะห์การตัดสินใจของกลุ่มโอเปค เพื่อหาสาเหตุการกระทำดังกล่าวและได้ข้อสรุปออกมาว่าหากกลุ่มโอเปคลดการผลิตน้ำมันเพื่อปรับราคาน้ำมันให้สูงขึ้น ทางฝั่งสหรัฐที่มีต้นทุนน้อยกว่าในการผลิตน้ำมัน จะผลิตน้ำมันออกมาขายแข่งกับทางกลุ่มของพวกตน จึงปล่อยการผลิตให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและตั้งใจให้ราคาน้ำมันของตนตกลงเพื่อไม่ให้สหรัฐคุ้มทุน หากมีการวางแผนจะผลิตน้ำมันออกมาขาย 

 

          ผู้เขียนวิเคราะห์ไปถึงต้นเหตุของการที่สหรัฐสามารถผลิตน้ำมันได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ว่าเกิดจากการที่สหรัฐสามารถคิดค้นวิธีการใหม่ในการขุดเจาะน้ำมันจากหินชั้นดินดานได้    โดยใช้ต้นทุนต่ำกว่าจากปกติ ทำให้สหรัฐกลายเป็นคู่แข่งทางการค้าน้ำมันกับกลุ่มโอเปค   โดยเฉพาะเมื่อค้นพบว่าขณะนี้สหรัฐมีน้ำมันในส่วนครอบครองที่สามารถจะขุดเจาะได้อยู่มากกว่าหกหมื่นล้านบาร์เรล เป็นการวิเคราะห์ไปถึงสาเหตุต้นตอที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มโอเปคโดยตรง ในฐานะกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่ครอบครองพื้นที่กว่า 40 เปอร์เซนต์ในตลาดการค้าน้ำมัน

 

          กลยุทธนี้ของกลุ่มโอเปคจึงมีเป้าหมายเพื่อขจัดคู่แข่งทางการค้าอย่างสหรัฐให้ตีกรอบการค้าน้ำมันอยู่ในกลุ่มลูกค้าเดิมเท่านั้น เพราะหากเพิ่มราคาน้ำมันโดยการลดการผลิต ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าทางฝั่งสหรัฐคงไม่รอช้า ใช้ความได้เปรียบที่ตนสามารถผลิตน้ำมันได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า เสนอขายราคาน้ำมันที่ถูกกว่ากลุ่มโอเปคจะเสนอขายในตลาดการค้าน้ำมันเป็นแน่

 

          แต่ในส่วนของการอธิบายความสามารถของสหรัฐในการส่งออกน้ำมันนั้น ผู้เขียนยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ที่ชัดเจนว่าเพราะเหตุใด การส่งออกน้ำมันของสหรัฐเข้าสู่ตลาดโลกถึงไม่มีผลต่อราคาน้ำมันโลก  และเกี่ยวข้องอย่างมีนัยยะสำคัญอย่างไรต่อความไม่สงบในประเทศผู้ส่งออกต่างๆ (สงครามกลางเมืองในลิเบีย  ความไม่สงบในอิรัก   การแซงก์ชั่นน้ำมันจากอิหร่านของยุโรปและสหรัฐ) ที่ส่งผลให้น้ำมันหายไปจากตลาดโลกวันละ 3 ล้านบาร์เรล

 

          อาจเป็นได้ว่าความไม่สงบในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเหล่านั้นทำให้มีการลดลงของการผลิตน้ำมัน เมื่อสหรัฐนำน้ำมันเข้าสู่ตลาดในปริมาณที่ใกล้เคียงจึงทำให้ตลาดการค้าน้ำมันโลกอยู่ในสถานะเสถียรภาพหรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากจนเกิดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ ซึ่งเท่ากับว่าขณะนั้นสหรัฐยังไม่อยู่ในสถานะของคู่แข่งทางการค้าของหลายๆ ประเทศเพราะยังไม่สร้างความแตกต่างใดๆ ให้กับการตลาดการค้าน้ำมัน

 

          แต่ขณะนี้ ความไม่สงบในประเทศต่างเร่ิมเบาบางลง ผู้เขียนจึงวิเคราะห์ว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันที่มากขึ้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำมันดิบล้นตลาด จนเป็นสาเหตุของการที่น้ำมันราคาตก อีกสาเหตุคือความต้องการน้ำมันจากเอเชียและยุโรป โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น จีน และเยอรมนีนั้นลดลง จนราคาน้ำมันอ่อนตัวลงไปอีกมากกว่าที่ควร สาเหตุในเรื่องนี้ผู้เขียนไม่ได้อธิบายวิเคราะห์ไว้แต่น่าจะเกิดจากการพัฒนาระบบเศรษฐกิจจนนำไปสู่การสร้างระบบมวลชนที่มีคุณภาพ ทำให้ความต้องการในกลุ่มผู้บริโภครายย่อยลดลง และสามารถส่งผลต่อตัวเลขผู้ซื้อน้ำมันในตลาดโลกได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

 

         ในส่วนของผละกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อกลุ่มประเทศโอเปคหากราคาน้ำมันลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าส่วนนี้ต้องแล้วแต่ว่าแต่ละประเทศมีความต้องการขายน้ำมันมากน้อยเท่าไหร่ และความสามารถทางด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในการรับมือกับการลดลงของราคาน้ำมันนั้นมีเท่ากันหรือไม่ ผู้เขียนยกตัวอย่างจากการประเมินของไอเอ็มเอฟว่า ประเทศคูเวต การต้าร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้นขายน้ำมันในราคา 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก็สามารถอยู่ได้แล้วโดยไม่เดือดร้อน ขณะที่อิหร่านต้องการถึง 136 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และกลุ่มประเทศอื่นๆ อีกในราคาที่ต่างกัน

 

         จะเห็นได้ว่าการวิเคราะห์ของผู้เขียนวิเคราะห์ไปถึงความสามารถของทุกฝ่ายในการรับมือต่อสถานการณ์และแนวทางในอนาคตของแต่ละประเทศที่จะวางแผนจัดการในเรื่องนี้

 

         ในส่วนท้ายของบทความผู้เขียนวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นหากราคาน้ำมันตกลง ทั้งสภาวะเปราะบางของรัสเซียที่เคยผิดนัดชำระหนี้มาแล้ว นอกจากนี้ยังมีปัญหาซ้ำทับลงมาคือค่าเงินรูเบิลที่อ่อนลงจากการถูกสหรัฐและยุโรปแซงก์ชั่นในปัญหายูเครนที่ผ่านมา

 

          ขณะที่ด้านสหรัฐ ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าน่าจะกระตุ้นการขายรถยนต์ขนาดใหญ่มากขึ้น เพราะราคาน้ำมันตกลง ดูจากที่เมื่อช่วงที่ราคาน้ำมันพุ่งสูง กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ของสหรัฐเลือกซื้อรถยนต์คันเล็กที่ใช้น้ำมันได้ประหยัดกว่า และเมื่อรวมกับการเป็นชาติที่มีนิสัยชอบขับรถยนต์ท่องเที่ยวด้วยแล้วยิ่งทำให้การใช้น้ำมันจะยิ่งพุ่งสูงมากขึ้น แต่ข้อเสียที่ผู้เขียนวิเคราะห์ก็คือ การขุดเจาะน้ำมันรูปแบบใหม่นั้นจะยังไม่ถูกนำมาใช้ในตลาดและส่งผลให้พนักงานในส่วนต่างๆ อยู่ในสภาวะว่างงานกว่า 2 ล้านตำแหน่ง ไปจนถึงวิธีการขุดเจาะน้ำมันรูปแบบใหม่ที่สหรัฐอาจสามารถนำไปขายต่อได้ก็จะซบเซาลงเพราะความต้องการน้ำมันลดน้อยลง

 

          สำหรับประเทศไทยผู้เขียนสรุปไว้ว่าจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพราะกลุ่มธนาคารสามารถรักษาอัตราดอกเบี้ยต่ำเอาไว้ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

          โดยสรุปแล้ว บทความชิ้นนี้สามารถวิเคราะห์การปรับลงของราคาน้ำมันไปถึงตัวต้นตอได้อย่างมีเหตุผลสนับสนุน และสามารถอธิบายการคาดเดาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ของทุกฝ่ายๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ยังมีบางจุดที่ไม่ได้ยกข้อมูลอ้างอิงมาให้เห็นชัดเจนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และเพราะอะไรถึงเลือกที่จะวิเคราะห์ไปในทิศทางนั้น นอกจากนี้ผู้เขียนยังมีการอธิบายถึงส่วนอื่นๆ ของปัญหา และชี้ให้เห็นต้นตอที่แท้จริงของปัญหาในข่าว ตั้งแต่ย่อหน้าแรกที่เริ่มบทความ.

 

bottom of page