
การล่มสลายของ"อิคิงามิ" ในมุมมองความคิดทางรัฐศาสตร์
เรื่องราวในการ์ตูนอิคิงามิ ถือกำเนิดขึ้นในประเทศสมมติแห่งหนึ่ง ที่อ้างตัวว่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศพี่น้องกับญี่ปุ่น โดยมีลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมใกล้เคียงกันและยังใช้ภาษาเดียวกันอีกด้วย ความแตกต่างประการเดียวดูเหมือนจะมีเพียงแค่ว่าประเทศแห่งนี้มีกฎหมาย "ผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติ" บังคับใช้กับประชาชน เนื้อหาของกฎหมายมีอยู่ว่า ประชาชนทุกคนจะได้รับการฉีด "วัคซีนเพื่อความรุ่งเรืองแห่งชาติ" ในวันที่เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกคน ความสำคัญของการฉีดวัคซีนนี้ก็คือ ในทุกๆ เด็ก 1,000 คน จะมีเด็กอยู่ 1 คน ที่ได้รับสารพิษชนิดหนึ่งเข้าไปตั้งแต่ตอนนั้น และจะออกฤทธิ์ในช่วงวัย 18-24 ปี โดยผู้ที่ได้รับสารพิษเข้าไปจะรู้ตัวล่วงหน้า 24 ชม. ก่อนถึงเวลาตายผ่าน "อิคิงามิ"
ตัวละครในเรื่องอธิบายว่า รัฐบาลอ้างถึงสาเหตุที่ต้องมีกฎหมายนี้เพื่อผดุงความรุ่งเรืองของชาติ เพื่อให้ประชาชนทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการมีชีวิตอยู่ ให้ประชาชนทุกคนพัฒนาขีดความสามารถของตนให้ถึงขีดสุดเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า และเป็นการตอกย้ำให้ประชาชนทุกคนรู้สึกว่า "เป็นเรื่องดีแค่ไหนแล้วที่ได้มีชีวิตอยู่" โดยอ้างเอาจากครั้งเมื่อเกิดสงครามยาวนานในอดีต ที่มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และใช้จุดอ่อนของประเทศที่กำลังอยู่ในสภาพระส่ำระสายขณะนั้น สร้างความชอบธรรมในการก่อร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมา ดังที่ตอนจบของเรื่องตัวละครหนึ่งเฉลยไว้ในตอนท้ายว่า จุดประสงค์ที่แท้จริงของกฎหมายเพื่อผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาตินั้น ก็เพื่อเป็นการเกณฑ์กำลังพลปกป้องประเทศในวาระจำเป็นอย่างสภาวะสงครามระหว่างประเทศ "พันธมิตร" และประเทศ "สหพันธ์"
ด้วยลักษณะวิธีการเล่าเรื่อง ทำให้พอสังเกตได้ไม่ยากว่าผู้เขียนจงใจเปรียบเทียบประเทศดังกล่าวกับประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะในส่วนของสงครามระหว่างประเทศในช่วงท้าย ทั้งประเทศ "พันธมิตร" และประเทศ "สหพันธ์" ชี้ให้เห็นถึงสภาพทางการเมืองของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในการ์ตูนเรื่องนี้ ที่ไม่สามารถมีกองกำลังทหารเพื่อปกป้องตนเองได้ในฐานะประเทศผู้แพ้สงคราม จำเป็นต้องให้ประเทศพันธมิตรปกป้องในสภาวะสงคราม
ตามหลักการทางรัฐศาสตร์ ประเทศนี้ถือเป็นรัฐชาติ (State) ที่มีความเป็นชาตินิยมสูง การมีอยู่ของกฎหมายผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติพิจารณาตามทฤษฎีของ G.A. Jacobsen กับ M.H. Lipman ที่อธิบายถึงจุดมุ่งหมายของรัฐไว้ 4 ประการ "อิคิงามิ" อาจเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้ในการสร้างความเป็นระเบียบ (Establishment of Order) แต่รัฐไม่ได้ให้หลักประกันถึงการมีชีวิตอยู่อย่างมีอิสรภาพของประชาชน ทั้งในฐานะมนุษย์ที่ไม่สมควรถูกกำหนดความตายไว้ตั้งแต่เกิดด้วยน้ำมือของบุคคลอื่น และอิสรภาพที่ถูกริดรอนไปเมื่อรัฐใช้ "อิคิงามิ" มาควบคุมการตัดสินใจของประชาชนว่าจะเข้าร่วมสงครามหรือไม่ แม้รัฐอาจจะอ้างได้ว่าความตายที่รัฐมอบให้ประชาชนนั้นเป็นไปด้วยความยุติธรรม เพราะกระบวนการฉีดวัคซีนเพื่อผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้ได้รับสารพิษก็ตามที
แต่ในจุดมุ่งหมายของรัฐอีก 3 ประการที่เหลือนั้น รัฐสามารถใช้การก่อมเกล่าทางสังคม (Socialization) เข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบสร้างความชอบธรรมและถูกต้องของกฎหมายดังกล่าวได้ง่ายพอสมควร เช่น การส่งเสริมสวัสดิภาพความผาสุกให้แก่ปัจเจกบุคคล (Promotion of Individual Welfare) ที่เน้นถึงความสำคัญของแต่ละบุคคล ว่าเป็นหน่วยสำคัญที่เล็กที่สุดในทุกๆ สังคม และตอกย้ำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของตนในข้อนี้ด้วยการมีอยู่ของอิคิงามิ อีกอย่างคือการส่งเสริมสวัสดิภาพความผาสุกแก่ส่วนร่วม (Promotion of General Welfare) โดยให้ประชาชนนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และการตายเพื่อผดุงความรุ่งเรืองของชาติเป็นเรื่องของการเสียสละ รวมทั้งการส่งเสริมคุณธรรม (Promotion of Morality) ที่รัฐสามารถสร้างความชอบธรรมและความถูกต้องของการตายเพื่อการผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาตินั้นได้ ว่าเป็นเรื่องที่ควรยกย่อง เป็นเรื่องดีงามที่ควรค่าแก่การจดจำ และมีผลตอบแทนเป็นทั้งชื่อเสียงและทรัพย์สินต่อครอบครัวที่เหลืออยู่
ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง บุคคลใดที่มีความคิดต่อต้านก็จะถูกตีตราจากสังคมว่าเป็น "ผู้มีความคิดเชิงด้อยพัฒนา" และมีบทลงโทษตั้งแต่การนำตัวไปปรับทัศนคติ มีชื่อเสียงในทางไม่ดีต่อบุคคลในครอบครัวที่เหลืออยู่จนต้องย้ายถิ่น จนไปถึงการถูกฉีดวัคซีนกดังกล่าวมีผลถึงตายทันที
ไม่ว่าจะด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย หรือบทลงโทษที่รุนแรง หรือความรู้สึกของการไม่มีอำนาจแก่ตนเองของประชาชนก็ตาม กาลเวลาได้ทำให้กฎหมายดังกล่าวที่ประเทศแห่งนี้กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในที่สุด สภาพสังคมส่วนใหญ่มีลักษณะสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว (แม้ไม่อาจระบุได้ว่ามีความเชื่อเช่นนั้นจริงหรือไม่) และผู้คัดค้านต้องถูกนำไปแก้ไขหรือทำให้หายไปจากสังคมนั้นเพื่อป้องกันความไม่สงบเรียบร้อยที่อาจเกิดขึ้น ผ่านทางผู้มีความคิด "เชิงด้อยพัฒนา" อาจเผยแพร่แนวคิดกบฎไปยังผู้คนรอบข้างในสังคมได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วพอจะส่งผลให้เกิดผลกระทบได้บ้างแม้จะไม่ทั้งหมด คือผลกระทบจากโลคยุคโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้การส่งต่อข้อมูลข่าวสารระหว่างประชาชนระดับปัจเจกควบคุมได้ยากลำบากมากขึ้น เล็ดรอดสายตาของรัฐบาลมากขึ้น จนนำไปสู่การรวมตัวประท้วงของฝูงชน (ที่ถูกควบคุมได้ภายหลังด้วย "อิคิงามิ") ดังจะเห็นได้จากตอนหลังๆ ของเรื่องที่เริ่มมีหลายกลุ่มคน (ส่วนใหญ่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากอิคิงามิ) แอบรวมตัวกันเพื่อกำจัดกฎหมายดังกล่าวให้หายไป ในฐานะรัฐชาติที่กำลังถูกท้าทายให้เข้าสู่สภาวะรัฐโลก (World State) โลกาภิวัตน์จึงถือเป็นภัยคุกคามครั้งสำคัญยิ่งต่อการมีอยู่ของ "อิคิงามิ"
ในเรื่อง "อิคิงามิ" นี้ไม่ได้มีการระบุไว้ว่ารูปแบบการเมืองการปกครองของประเทศในเรื่องมีความเข้มข้นทางการเมืองขนาดไหน แต่จากตอนที่ระบุถึงการหาเสียงเลือกตั้งก็ทำให้เห็นว่า "อิคิงามิ" ไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือคุกคามที่คนทั่วไปสามารถตั้งคำถาม ต่อต้าน หรือแสดงท่าทีขัดแย้งได้ แม้จะเล็กน้อยที่สุดแค่ไหนก็ตาม การกระทำดังกล่าวอาจเทียบเท่าการพาดพิงหรือการพูดถึงระบอบกษัตริย์ของไทย หรือการดูหมิ่นลบหลู่กันด้วยความเชื่อทางศาสนาของบางประเทศ
หนึ่งในวิธีการที่กลุ่มต่อต้านเลือกใช้ก็คือการก่อประท้วงในตอนหลังของเรื่อง อันเป็นหนึ่งในวิธีการการมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) ที่มีอยู่หลายรูปแบบ แม้ทั่วไปแล้วการมีส่วนร่วมทางการเมืองในประเทศนี้จะสามารถเกิดขึ้นได้ปกติ แต่เมื่อเป็นเรื่องต้องห้ามร้ายแรงอย่าง "อิคิงามิ" ดูเหมือนจะไม่มีใครสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในจุดนั้นได้ ทำให้ประเทศนี้ไม่อาจเป็นประชาธิปไตยได้โดยสมบูรณ์ เพราะประชาชนไม่สามารถพูดในเรื่องที่อยากจะพูดได้โดยสุจริตใจ และยิ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดการก่อจลาจลอันเป็นหนึ่งในวิธีการมีส่วนร่วมแบบผิดกฎหมาย (Illegal Form) เนื่องจากไม่มีพื้นที่ปกติอันถูกต้องชอบธรรมให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว
ปัจจัยสำคัญที่มีสัมพันธ์ต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง ตามที่ระบุไว้ใน*** (บูฆอรี ยีหมะ. ความรู้เบื้องต้นทางรัฐศาสตร์. 2550. หน้า 168.) นั้น ข้อที่สำคัญที่สุดที่ถูกนำมาใช้ในเรื่องคือการปลูกฝังทางความคิด และความเชื่อของแต่ละสังคม จุดเริ่มต้นของการมี "อิคิงามิ" อาจเกิดขึ้นมาได้เพราะความรุนแรงและความเสียหายจากสงครามก็จริง แต่หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ทำให้รัฐบาลทำให้สำเร็จก็คือลักษณะของความเป็นชาตินิยมที่มากเกินไป เมื่อยกความเป็นหนึ่งเดียวชาติมาเป็นข้ออ้าง จนสามารถประกอบสร้างวาทกรรมขนานใหญ่นี้ขึ้นมาให้กลายเป็นเรื่องสำเร็จได้ การต่อต้านตรงจุดไหนที่อาจจะเกิดขึ้นจึงถูกทำลายให้กลายเป็นคนผิดและมีความคิด "เชิงด้อยพัฒนา"
"อิคิงามิ" ไม่เพียงถูกทำให้เป็นความถูกต้องทางสังคมราวกับเป็นกฎธรรมดาทั่วไปเช่นการจ่ายภาษีอากรเท่านั้น การส่งสาส์นสั่งตายยังอธิบายถึงอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่รัฐควบคุมอยู่อย่างชัดเจน ความเป็นความตายที่รัฐมอบให้ แสดงสถานะทางอำนาจที่ต่ำกว่าของประชาชนในประเทศ แม้ถูกมอบให้มีชีวิตเฉกเช่นมนุษย์ทั่วไปในสังคมอื่นๆ แต่การที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าใครจะได้รับอิคิงามิบ้าง ทำให้ผู้คนไม่อาจปฏิเสธข้อเสนอเชิญชวนที่จะเพิกถอนสิทธิที่อาจจะต้องตายนั้นได้ แม้จะมีอายุกำหนดไว้แค่ 18-24 ปี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบุคคลที่พ้นวัย 24 ไปแล้วจะสามารถอยู่ได้อย่างสงบ ถึงจะไม่ต้องตายด้วยอิคิงามิแล้ว แต่ก็ยังมีเพื่อนและคนในครอบครัวที่ต้องมาคอยวิตกกังวลว่าจะได้รับสิ่งนั้นเข้าไปหรือไม่ด้วย
และต่อให้เป็นชื่อเสียง เงินตรา ความดีงามทางศีลธรรมและสังคมใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการกล่อมเกลาทางสังคมของรัฐบาลก็ตาม ก็ไม่อาจยิ่งใหญ่ไปกว่าพลังอำนาจอันเด็ดขาดของความตายได้ สิ่งที่รัฐบาลใช้เป็นอาวุธในการควบคุมจึงเป็นประหนึ่งดาบสองคม ที่จะกลายเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนเรียกร้องถึงเสรีภาพจริงแท้ที่ตนพึงมีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
หากเรื่องราวดำเนินต่อไปในหนังสือ ก็คงถึงเวลาที่ฝ่ายรัฐบาลจะเป็นผู้ถูกทำให้สั่นคลอนบ้างแล้ว เพราะโลกยุคอนาคตกำลังเรียกร้องการเกิดใหม่ของระบบ การกล่อมเกล่าทางสังคมที่เคยใช้ได้ผลกำลังถูกท้าทายด้วยความกลุ่มคนเลือดใหม่ ที่จะเป็นผู้ตั้งคำถามและขยายแพร่ความคิดจนกรอบที่เคยสร้างไว้ไม่อาจดำรงอยู่ได้ และในวันหนึ่งเมื่อทุกสถาบันทางสังคม ครอบครัว การศึกษา ศาสนา สื่อมวลชน ทั้งหมดนี้หันมาต่อต้านการมีอยู่ของกฎหมายเพื่อผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติ "อิคิงามิ" ก็อาจถึงเวลาล่มสลายในที่สุด.