
มนุษย์ประมง:ผลกระทบและทางออกจากปัญหาอุตสาหกรรมประมงทะเล
ก่อนจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมเรือประมงในปัจจุบัน ที่กำลังเป็นประเด็นน่าสนใจในหลายมุมมองนั้น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการค้ามนุษย์ในลักษณะนี้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานแค่ไหนแล้ว
จากรายงาน “ล้วงลึกขบวนการค้าแรงงานประมง” ของเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์มูลนิธิกระจกเงา ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดการค้ามนุษย์เพื่อไปเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมการประมงนั้น เกิดจากความต้องการแรงงานจำนวนมากในอุตสาหกรรมประมงทะเลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมงทะเล ประกอบกับปัญหาสภาะว่างงานของคนชนบทที่ไม่สามารถเข้าทำงานในองค์กรถูกกฎหมายต่างๆ ได้ เนื่องจากไม่มีวุฒิการศึกษาตามกำหนด จากช่องโหว่สองช่องนี้เอง กลุ่มค้ามนุษย์จึงได้โอกาสยื่นมือเข้ามาทำการซื้อขายมนุษย์โดยง่าย
รายงานระบุว่า “ปัญหาเรื่องการค้าแรงงานประมงจะอยู่ตรงที่ผู้ประกอบการบางรายได้จ้างเหมาให้ผู้ควบคุมเรือประมง (ไต๋ก๋ง) เป็นผู้บริหารจัดการแรงงานและส่วนแบ่งจากการจับปลา เป็นผลให้ผู้ควบคุมเรือประมงต้องทำทุกวิถีทางให้มีแรงงานประมงครบตามจำนวนก่อนเรือออกเดินทาง “ใบสั่งแรงงาน” จึงเกิดขึ้นและส่งไปถึง “นายหน้าค้าแรงงานประมง” เพื่อบอกจำนวนแรงงานที่ต้องการและวันที่เรือต้องออกเดินทาง”
สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้แถลงข่าวออกมาในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2554 ว่า ”ปัจจุบันอุตสาหกรรมประมงขาดแคลนลูกเรือประมงมากกว่า 70,000 อัตรา ทำให้นายหน้าต้องทำการจัดหาลูกเรือประมงทั้งแรงงานไทยและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยนายหน้ามักใช้วิธีการล่อลวง-บังคับ จนทำให้กลายสภาพเป็นการค้ามนุษย์ในที่สุด ถึงแม้ว่าในกลไกด้านนโยบายของประเทศไทย จะได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์รูปแบบด้านแรงงานประมง โดยมีข้อเสนอแนะเรื่องการจัดตั้งศูนย์จัดหาแรงงานเพื่อทำงานในเรือประมง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงอันเป็นปัจจัยสำคัญของปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคแรงงานประมง แต่ในรอบรายงานฉบับนี้ (ปี 2554) ยังไม่มีรูปธรรมที่สามารถดำเนินการได้จริง หากปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานภาคประมงยังไม่สามารถหาทางออกที่เป็นรูปธรรมได้ การค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป”
มูลนิธิกระจกเงาได้ให้ข้อมูลว่า สภาพการจ้างงานในอุตสาหกรรมประมงทะเล ถูกจัดให้อยู่ในลักษณะการทำงานประเภท 3D อันได้แก่ งานสกปรก (Dirty) งานอันตราย (Dangerous) และงานยากลำบาก (Difficult) ซึ่งงานในลักษณะนี้มักจะขาดแคลนแรงงาน การมีผลตอบแทนที่เหมาะสมหรือสูงกว่าค่าแรงทั่วไป น่าจะเป็นตัวการที่สร้างแรงจูงใจให้กลุ่มแรงงานตัดสินใจเข้าทำงานในอุตสาหกรรมประมงทะเล อีกทั้งยังต้องมีการตรวจสอบระบบการขึ้นทะเบียนเรือประมงและทะเบียนลูกเรือประมงอย่างรัดกุม ควรจัดเก็บให้เป็นระบบ และสามารถตรวจสอบได้ง่ายเมื่อมีการสงสัยว่าเรือลำใดมีการค้ามนุษย์เกิดขึ้น
ด้านนายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของขบวนการค้ามนุษย์ในกิจการประมงซึ่งมีแรงงานจำนวนมากถูกหลอกลวงไปทำงานในประเทศอินโดนีเซียไว้ในเฟสบุคส่วนตัว Sompong Srakaew เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาว่า แรงงานประมงส่วนใหญ่จะถูกนายหน้าหลอกลวงพาไปกักขัง ก่อนถูกส่งลงเรือตามท่าต่างๆ ที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และสงขลา โดยชักชวนว่างานที่จะให้ทำนั้นมีรายได้ดี และไม่ต้องลำบาก แต่ความจริงก็คือคนเหล่านั้นจะถูกพามายังที่พักที่มีคนจับตาดูตลอดเวลา และล่อลวงให้ทำการจับจ่ายใช้สอยทุกอย่างได้อย่างสะดวก โดยไม่บอกราคาล่วงหน้าแต่ให้ติดหนี้ไว้ก่อนได้ จากนั้นเมื่อลงเรือมาทำงานค่อยพบว่าตนต้องทำงานใช้หนี้บนเรือ ซึ่งหนีไม่ทันหรือทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะอยู่กลางทะเล
“แรงงานจำต้องยอมเดินทางไปเพราะอยู่กลางทะเลแล้ว
เป็นการเดินทางประมาณ 15-20 วัน จนถึงเกาะอัมบนประเทศอินโดนีเซียด้วยเรือแม่ จากนั้นถูกส่งต่อให้เรือลูกที่ทำหน้าที่หาปลา เมื่อมาถึงเรือลูกจะถูกให้ทำงานใช้หนี้เพื่อหักค่าหัวที่นายหน้าเอาไปจำนวน 30,000 – 50,000 บาท ต้องรับสภาพการทำงานเพื่อใช้หนี้ที่ตนเองไม่ได้สร้าง” ข้อความจากเฟสบุคของนายสมพงค์ระบุ “กระบวนการนำคนลงเรือนี้ทำโดยคนไทย และเรือทุกลำออกจากประเทศไทย คนที่ควบคุมเรือและบังคับพวกเขาทำงานก็คือคนไทย และอยู่ในพื้นที่จำกัด เช่น ในเรือกลางทะเล เรือเมื่อหาปลาได้จะมีการขนถ่ายปลากลางทะเลในกับเรือแม่ โดยเรือจะเข้าฝั่ง 4 ถึง 6 เดือน แต่ละรอบของการหาปลา กว่าเรือจะกลับประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 6 ปี เมื่อเรือจะกลับอาจจะทิ้งคนเหล่านี้ไว้ตามเกาะต่าง ๆ หรืออาจะนำไปขายต่อให้กับเรือลำอื่นกลางทะเล บางคนทนสภาพการทำงานไม่ได้หนีขึ้นฝั่งเป็น “คนตกเรือ” แรงงานเหล่านี้จะไม่ทราบว่าได้เงินเดือนเท่าไหร่ แล้วแต่ ไต๋ก๋ง (กัปตันเรือจะพิจารณา) เอกสารของพวกเขาที่เรียกหนังสือคนประจำเรือ (Seaman book) คือเอกสารปลอมทั้งหมด”


ผู้อำนวยการเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานยังอธิบายด้วยว่า ทางการอินโดนีเซียจะไม่เกี่ยวข้องกับการบังคับทำงาน การทำร้ายทุบตี การหักเงิน ทั้งหมดอยู่ที่ไต๋เรือที่เป็นคนไทยเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ร่วมกันกับผู้ประกอบการไทย ทางสำนักงานที่อินโดนีเซียจะเกี่ยวข้องกับเรือที่หาปลา การขอสัมปทานตั๋วเรือเพื่อขออนุญาตหาปลา ทำเรื่องการขายปลา และการขนส่งปลา อาจจะช่วยเหลือได้เฉพาะแรงงานที่อยู่บนฝั่ง โดยเมื่อถึงเวลาต้องลงเรือจะติดตามให้คนเหล่านี้รวมทั้งคนที่ตกเรือ กลับมาลงเรือเดิม
ด้านปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเดินเรือนั้น นายสมพงค์ให้ข้อมูลว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานมีทั้ง 1.การทำร้ายทุบตีเกิดขึ้นในเรือ การบังคับให้ทำงานเกิดขึ้นในเรืออยู่กลางทะเล การเสียชีวิตและอุบัติเหตุมักจะเกิดขึ้นกลางทะเล 2.หากปฏิเสธที่จะไม่ทำงาน ถ้าไม่ถูกตี ทำร้ายร่างกาย ใช้น้ำร้อนสาดใส่ตัว แต่จะถูกหักเงินตามรอบของการปล่อยอวน และเก็บกู้อวน 3. เมื่อต้องทำงานหนักบางคนร่างกายสู้ไม่ไหว เสียชีวิตกลางทะเล ไต๋บางคนใจดีจะนำกลับมาฝังที่ฝั่ง แต่ส่วนใหญ่ก็โยนศพทิ้งกลางทะเล 4. เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น สลิงขาด และสายพานเรือฟาดที่ขา แขน หรือ ศีรษะ ลำตัว และเมื่อต้องกระโดดลงน้ำเพื่อ ทอนปลา ใส่ปลี ก่อนนำขึ้นเรือ อาจมีคนบาดเจ็บ เมือเกิดอุบัติเหตุในขณะที่เรืออยู่กลางทะเล น้อยครั้งที่จะนำตัวเขารับการรักษาที่โรงพยาบาล หลายคนเสียชีวิตและป่วยตายกลางทะเล เช่น โรคฝี ไข้หวัดทะเล โรคมาเลเลีย และถูกบังคับให้ทำงานกลางแดด กลางฝนทั้งวันทั้งคืน ทั้งนี้ทีมลงพื้นที่ได้พบคน ขาพิการ และนิ้วมือพิการจำนวนหนึ่งจากอุบัติเหตุการทำงาน บางคนแขนหลุด 5.การตายของลูกเรือเมื่อเจ็บป่วยไม่สบาย หรือสาเหตุใดๆ ก็ตาม เพื่อปกปิดคดี ใต๋เรือจะจ่ายเงินบนฝั่งกับเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียที่รู้เห็นเป็นใจเพื่อปกปิด”
ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ไปเป็นแรงงานอุตสาหกรรมประมงทะเลนั้น เป็นที่ทราบกันดีแต่ไม่มีใครแก้ไขได้มานานแล้วในแถบพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ที่กลายเป็นประเด็นร้อนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ เพราะการเข้าไปทำข่าวลงพื้นที่ที่เกาะเบจินา ประเทศอินโดนีเซีย ของฐาปนีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวสังกัดไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยนางฐาปนีย์ได้โพสต์ข้อความบนเฟสบุคส่วนตัวถึงการลงพื้นที่จนพบคุกขังแรงงานไทย และหลุมศพฝังคนไทยจำนวน 60 ศพ รวมทั้งแรงงานประเทศเพื่อนบ้านอีกจำนวนหนึ่ง
จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดกระแสตอบรับไปในหลากหลายทิศทาง ทั้งการสนับสนุนและชื่นชมนักข่าว และอีกหลายเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับการทำข่าวเรื่องนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปยังฝั่งยุโรป จนกลายเป็นเหตุลุกลามใหญ่โตให้สหภาพยุโรปส่งใบเหลืองเตือนไทยให้เร่งจัดการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมจนไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด (Illegal Unreported and Unregulated Fishing หรือ IUU Fishing) ขณะเดียวกันก็ใกล้ถึงเวลาที่สหรัฐจะประกาศรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ประจำปีภายในเดือน พ.ค. 2558 จนทำให้ภาครัฐเกิดความหวั่นวิตกว่ากรณีนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยเสียหายอย่างหนักจากการโดนแบนจากสองลูกค้ารายใหญ่
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยว่า หากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปลงมติภาคทัณฑ์ หรือให้ใบเหลืองกิจการประมงของประเทศไทย จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคประมงและการส่งออกสินค้าประมงไปยังยุโรป เพราะจะยังไม่มีการยกเลิกและลดคำสั่งซื้อ เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีความใกล้ชิดกับผู้นำเข้าสินค้าในยุโรป ทำให้สามารถพูดคุยกันได้
อย่างไรก็ตาม อาจจะส่งผลกระทบบ้างเล็กน้อยในส่วนของภาพลักษณ์สินค้าไทย แต่เชื่อว่าจากความตั้งใจของรัฐบาลในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาและออกกฎหมายเกี่ยวกับประมง เชื่อว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า เมื่อคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเดินทางมาตรวจสอบอีกครั้ง ไทยน่าจะสามารถหลุดจากปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าประมงอย่างแท้จริง จะเป็นเรื่องของปัญหาการถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (จีเอสพี) และปัญหาของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าคู่แข่งมากกว่า
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้ปรารภในที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เมื่อช่วงเช้าวานนี้ ให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ และเป็นระบบ ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวสะสมมานาน จนเป็นเหตุให้อียูมีการประกาศยื่นคำขาดดังกล่าว
นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาทรัพยากรทางทะเลและกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการประมงแบบ IUU เป็นปัญหาสำคัญระดับชาติที่ต้องแก้ไขโดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักได้เป็นผู้นำในการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการตามแผนงานหลัก 6 แผนงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1. การจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมงได้มีการจดทะเบียนเรือประมงเพิ่มเติมจำนวน 4,243 ลำ และออกใบอนุญาตทำการประมง จำนวน 12,455 ลำ
2. การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมงกรมประมงได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการควบคุมเฝ้าระวังการทำประมง (MCS) ที่ส่วนกลาง และในภูมิภาค จำนวน 18 ศูนย์ เพิ่มชั่วโมงในการปฏิบัติงานควบคุมเฝ้าระวังการทำประมงให้เข้มงวดมากขึ้น และจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกของเรือประมง (Port in – Port out) จำนวน 26 ศูนย์ เพื่อรับแจ้งและตรวจสอบเรือประมงขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไปที่เข้าและออกจากท่าเทียบเรือ
3. การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ หรือ VMS ขณะนี้มีระเบียบข้อบังคับให้เรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไปติดตั้ง VMS ส่วนเรือประมงขนาด 30-60 ตันกรอส คาดว่าจะประกาศให้ติดตั้ง VMS ในภายหลังเมื่อ พ.ร.บ. การประมง ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้
4. การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับหรือ Traceability กรมประมงได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบย้อนกลับตลอดสายการผลิตจากเรือประมง แพปลา โรงงานแปรรูป และผู้ส่งออก ให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับโดยการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ประกอบการประมง และผู้ควบคุมเรือประมง ในส่วนของเจ้าหน้าที่กรมประมงได้มีการฝึกอบรมการดำเนินงานตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า หรือ Port State Measures และเน้นให้ความสำคัญกับด่านตรวจสัตว์น้ำที่มีเรือประมงต่างชาติเข้าเทียบท่าขนถ่ายสัตว์น้ำจำนวน 7 แห่ง ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรสาคร สงขลา ระนอง และภูเก็ต
5. การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การประมง ได้ผ่านการประชุมพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2558 นอกจากนี้ยังได้ร่างกฎหมายลำดับรองรวมทั้งสิ้นประมาณ 70 ฉบับโดยเฉพาะกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมง IUU จำนวน 11 ฉบับ
6. การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมหรือ NPOA – IUU กรมประมงได้ปรับปรุงร่าง NPOA-IUU ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยได้ร่างสุดท้ายแล้ว คาดว่าจะได้ฉบับสมบูรณ์ภายในเดือนเมษายนนี้

ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ให้ได้ผลสำเร็จนั้น ทางรัฐบาลได้ยึดหลักทำก่อน ทำจริง ทำทันที หลังจาก พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งแก้กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลมีผลบังคับใช้กว่า 2 เดือนที่ผ่านมา และมีการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลปัจจุบันออกตรวจเรือประมงได้ถึง 869 ลำ
“นอกจากนี้ รัฐบาลยังเอาผิดเรือประมงทั้งการดำเนินคดีและการออกคำสั่งจำนวน 65 ลำ โดยดำเนินคดีเรื่องการใช้แรงงานเด็ก การสั่งให้จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ลูกจ้างให้อยู่ดีกินดีมีเวลาพักผ่อน แสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจปรับปรุงกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลทำให้ได้ผลสำเร็จและความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลปัจจุบันแตกต่างไปจากรัฐบาลในอดีต“ ดร.นพดลกล่าว
กฎกระทรวงนี้เป็นมาตรการที่ทำให้พบการกระทำผิดของเรือประมงเพื่อประเทศไทยจะได้หลุดจากการคาดโทษว่าไม่มีมาตรฐานในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ แต่ตอนนี้เรามีกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานที่เรือประมงทะเลต้องทำตาม เช่น การทำสัญญาจ้าง การจ้างแรงงานขั้นต่ำ ห้ามจ้างคนอายุต่ำกว่า 18 ปี การจัดเวลาพักและเวลาทำงาน ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วย และการนำตัวลูกจ้างมารายงานตัวปีละครั้ง เป็นต้น จะทำให้ช่วยลดปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก และแรงงานทาส
ทั้งนี้ ยังมีเรือประมงต้นแบบ ที่มีห้องนอนติดแอร์ ห้องพยาบาลและบุรุษพยาบาลประจำเรือ มีการติดตั้งระบบติดตามเรือ หรือ VMS และยังได้ปฏิบัติตามกฎหมายการทำประมงด้วยการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทำประมงอย่างถูกต้อง ทำประมงเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับสัมปทานและมีการรายงานจำนวนปลาที่จับได้ จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากการถูกคาดโทษการทำประมงที่ผิดกฎหมายแบบ IUU ตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปทั้งนี้ ยังมีเรือประมงต้นแบบ ที่มีห้องนอนติดแอร์ ห้องพยาบาลและบุรุษพยาบาลประจำเรือ มีการติดตั้งระบบติดตามเรือ หรือ VMS และยังได้ปฏิบัติตามกฎหมายการทำประมงด้วยการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทำประมงอย่างถูกต้อง ทำประมงเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับสัมปทานและมีการรายงานจำนวนปลาที่จับได้ จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากการถูกคาดโทษการทำประมงที่ผิดกฎหมายแบบ IUU ตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป
“ทุกคนในชาติต้องเข้าใจว่า ถ้าเราถูกกีดกันการค้าระหว่างประเทศจะทำให้ทุกคนในชาติเดือดร้อนเรื่องเงินในกระเป๋าของแต่ละคนมากขึ้นไปอีก ดังนั้นทุกคนในชาติต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแส ผู้ประกอบการนายจ้างต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด” ดร.นพดล กล่าวทิ้งท้าย
การแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ ถูกทำให้อยู่ในภาพลวงตาบางอย่างมานานแสนนาน เนื่องด้วยคนทั่วไปมีความเข้าใจน้อยมากถึงเรื่องจริงๆ ที่เกิดขึ้นในเรือกลางทะเล จึงนับเป็นเรื่องดีที่ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอีกครั้งอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อมันส่งผลถึงเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง
แต่ก็อย่าลืมว่าปัญหาที่แท้จริงของเรื่องนี้คืออะไร การละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการที่ไทยจะตกอันดับจากการเป็นประเทศส่งออกสินค้าทางทะเล เพราะถึงแม้ว่ามันจะเกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่มันก็เป็นเรื่องคนละประเด็นอย่างสิ้นเชิง.