
การศึกษากับการประกอบสร้างหน้าที่พลเมือง
“...เมื่อใดความรู้สึกต่อหน้าที่เหล่านี้ทั้งปวงหมด ได้เข้าฝังอยู่ในสันดานจนปรากฎด้วยอาการกริยาภายนอกแล้ว เมื่อนั้นความสั่งสอนฝึกหัดเชื่อว่าสำเร็จ และผู้ใดได้เล่าเรียนถึงผลสำเร็จเช่นนี้แล้ว ผู้นั้นเชื่อว่าเป็นราษฎรอันสมควรแก่ประเทศสยามยิ่งนัก...”
พระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรื่อง การศึกษาของประเทศสยามเมื่อ ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓)
หากเราลองพิจารณาตามทฤษฎีหน้าที่นิยม เราจะพบว่า ระบอบโครงสร้างสังคมที่สำคัญที่สุดคือพลเมืองทุกคน ต่างประกอบอาชีพและทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แล้วผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็คือสังคมที่สงบสุข ไร้ซึ่งปัญหา
หนึ่งในเครื่องมือที่รัฐจำเป็นต้องใช้เพื่อให้เกิดผล โดยเฉพาะผลลัพธ์ระยะยาว ก็คือการปลูกฝังทางด้านการศึกษา สอดแทรกความคิด ทัศนคติ แนวทาง มุมมองโลก สร้างเซตความจริง หรือสิ่งที่ควรจะเป็นขึ้นมาใหม่ให้กับเหล่าเยาวชนผู้ถูกอ้างว่าเป็นอนาคตของชาติ
ในสังคมระยะแรก สมัยช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนเข้าสู่ปฏิวัติประชาธิปไตยแบบเต็มตัว กระแสรักชาติถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากต่างประเทศโดยส่วนหนึ่ง อย่างเช่นจีนหรือญี่ปุ่น โดยเฉพาะคนจีนที่เข้ามาก่อตั้งรกรากในประเทศไทยจนเกิดเป็นการผสานลงตัวระหว่างสองชนชั้นจนปัจจุบันนี้แทบจะแยกกันไม่ออกว่าใครมีสายเลือดคนจีนอยู่ในตัวหรือไม่
เพื่อไม่ให้สังคมตกอยู่ในสภาวะรักชาติมากเกินไป การประกอบสร้างความจริงอีกชุดเรื่องการรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์จึงถูกนำมาใช้ และตัดทอนอย่างอื่นทิ้งโดยการตัดสินว่าเป็นสิ่งเลวร้าย และไม่สมควร สอดแทรกอยู่ในบทเรียนที่รัฐบาลออกกฎบังคับให้เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษา เป็นหนึ่งในแนวทางที่ง่ายที่สุดที่จะรับประกันว่าเซตความเชื่อใดๆ ก็ตามที่รัฐบาลจงใจมอบต่อให้กับประชาชนจะถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไปทุกๆ คน และสร้างเป้าหมายสวยงามร่วมกันผ่านสายตาของเด็กๆ ว่า การรักชาติด้วยการทำตามหน้าที่พลเมืองที่ดี ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะละเลยไปไม่ได้
ตามทฤษฎีหน้าที่นิยมจากแนวคิดเรื่องความจำเป็นพื้นฐานของระบบสังคมของ ทัลคอทท์ พาร์สัน อธิบายเอาไว้ว่า ระบบการกระทำทางสังคมมีความต้องจำเป็นพื้นฐาน 4 ประการ ดังนี้
1) การบรรลุเป้าหมาย: เป้าหมายในที่นี้คือเรื่องของการดูแลความสงบเรียบร้อยให้กับคนในชาติ ผ่านทุกๆ วิถีทาง ซึ่งหนึ่งในวิธีการนั้นคือการปลูกฝังความเชื่อเรื่องการศึกษา ประกอบสร้างค่านิยมการเรียน ผู้ที่เรียนคือผู้ที่เจริญ ผู้ที่ศิวิไลซ์ มีความรู้และมีฐานะ สามารถจัดการในเรื่องต่างๆ ได้ และจะถูกจัดให้เป็น “คนเมือง” ทันทีแม้จะไม่ได้อยู่ในเมืองก็ตาม ทั้งหมดนี้ทำเพื่อให้สร้างกรอบใหม่ของระบบสังคมขึ้นมา ใช้เป็นตัวชักจูงให้ประชาชนเกิดความต้องการเรียนหนังสือผ่านตำรา ที่ซึ่งรัฐบาลสามารถส่งต่อเซตความเชื่อใดๆ ก็ตามของรัฐบาลให้กับประชาชนได้
2) การปรับตัว: การศึกษาในรูปแบบของการมีครู-โรงเรียนอย่างเป็นหลักเป็นฐานนั้น อาจจะเป็นรูปแบบที่ต้องการการปรับตัวในหมู่ประชาชนสักเล็กน้อย เป็นเรื่องของการปรับตัวระยะยาว ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ยากที่จะคาดเดาได้ว่า จะเป็นไปตามที่ผู้วางแผนต้องการไว้หรือไม่ สำหรับการสร้างประชาชนที่สามารถปฏิบัติตัวเป็นพลเมืองที่ดีพร้อมทำหน้าที่ของตนไปด้วยอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ดังนั้นแผนการในรูปแบบนี้จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างจริงจัง ละเอียดรอบคอบ คอยตรวจสอบเส้นทางอยู่เสมอว่าได้ผลลัพธ์ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากสังเกตุจากผลลัพธ์ของการศึกษาในปัจจุบัน ก็อาจอนุมานได้ว่ากระบวนการที่ผ่านมาไม่มีการวางแผนหรือตรวจสอบให้รัดกุมมากพอ อาจเกิดจากการปล่อยปละละเลยไม่สนใจต่อวิธีการทำงานจริงๆ ของผู้มีอำนาจก็เป็นได้ การปรับตัวที่เกิดขึ้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการนั้นจึงยังไม่เสร็จเรียบร้อยเสียที
3) การบูรณาการหรือผสมผสานส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน: แน่นอนว่าผลลัพธ์จากการปฏิรูปรูปแบบการศึกษาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลระยะยาวแบบไม่มีเงื่อนไขชัดเจนไปยังเรื่องอื่นๆ ในสังคมอีกด้วย ดังนั้น การปลูกฝังของรัฐบาลจึงจำเป็นต้องประกอบหลายๆ ส่วนเข้าด้วยกันให้สอดคล้องและไม่ขัดแย้ง หรือหากขัดแย้งก็เกิดขึ้นเพื่อจุดประสงค์อะไรบางอย่าง (เช่น ในหนังสือเรียนภาษาไทยชุดที่เป็นกล้า-แก้วนั้น ช่วงยุคนั้นเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 16 และ 6 ตุลาคม 19 สิ่งที่หนังสือเพิ่มเข้าไปคือภาพของชนบทที่สวยงาม ทุกคนอยู่ได้ด้วยความสงบสุขเพียงแค่มีศีลธรรมเป็นตัวประกอบการดำเนินชีวิต ซึ่งแตกต่างจากสภาพความเป็นจริง เป็นหนึ่งในวิธีการประกอบสร้างความจริงขึ้นมาใหม่อีกแบบหนึ่ง) การบูรณาการเป็นตัวการสำคัญที่บ่งบอกว่าองคพายพใดของสังคมต้องการไม่สามารถมีอยู่ตามลำพังอย่างโดดเดี่ยว ทุกส่วนประกอบสร้างจะส่งผลกระทบถึงกันไปมา ความตั้งใจของผู้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงความเชื่อหรือทัศนคติของคนในสังคมจึงไม่อาจทำสำเร็จได้หากไม่ควบคุมทุกตัวแปรอย่างจริงจัง
4) การจัดการกับความตึงเครียดโดยใช้กฎระเบียบต่างๆ: ในสภาวะที่สังคมไม่สงบ การศึกษาที่ถูกปลูกฝังในกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่จึงถือเป็นอีกหนึ่งข่องทางของรัฐในการสร้างอำนาจความชอบธรรมอันถูกต้องให้กับตน สร้างกฎระเบียบทางสังคมขึ้นมาใหม่ด้วยการสร้างทัศนคติใหม่เข้าไปในบทเรียน เพราะคนรุ่นใหม่อาจไม่สามารถเข้าถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในอดีตกันหมดทุกคน เพื่อสร้างความถูกต้องให้กับตนเอง จึงใช้คนรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีคำตอบให้กับคำถามใดได้เป็นผู้ตัดสิน ผ่านตัวแปรที่ตนเป็นผู้ปลูกฝังความคิดเอาไว้ให้ในตอนแรก
การศึกษาในยุคสมัยนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการประกอบสร้างชาติในรูปแบบที่ควรจะเป็นของผู้มีอำนาจอีกด้วย และเมื่อสร้างชาติในรุปแบบที่ต้องการได้แล้ว กลุ่มคนของชาติในอนาคตนี่แหละ ก็จะเป็นผู้ประกอบสร้างการศึกษาที่จะสร้างชาติรุ่นต่อๆ ไปให้สอดคล้องกับแนวคิดหน้าที่นิยม ที่บอกว่าทุกๆ องคาพยพจะทำหน้าที่ของตนไปไม่หยุดยั้ง แม้จะเกิดปัญหาทำให้ระบบรวน แต่สุดท้ายปัญหาก็จะได้รับการแก้ไขตามทฤษฎีการทำหน้าที่ของแต่ละบุคคล และเข้าสู่สภาวะสงบสุขเสมอในท้ายที่สุด
การศึกษาในช่วงแรกที่เป็นช่วงตั้งต้นจึงขาดเสียไม่ได้กับการปลูกฝังความคิดเรื่องรัฐชาติและหน้าที่พลเมืองลงไปตามความคิดของรัฐบาล โดยนิยามคำว่า “พลเมืองดี” ขึ้นมาเพื่อสร้างจุดประสงค์และเป้าหมายที่เห็นภาพชัดของกระบวนการในระบบการศึกษา “พลเมืองดี” ในที่นี้จึงหมายถึงการเป็น “ผู้ดี” เป็นผู้ที่รู้และมีคุณสมบัติผู้ดี มีมารยาทดี มีการศึกษา ศิวิลัยส์ อาศัยอยู่ในเมืองและมีฐานะดี
เป็นการประกอบสร้างตัวตนของคนในสังคมรูปแบบใหม่ขึ้นมา รูปแบบที่ถูกทำให้ดูดีกว่า มีคุณค่ากว่า มีความรู้มากกว่า และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่า ซึ่งแนวทางการก้าวเข้าไปสู่สภาวะ “ผู้ดี” หรือ “พลเมืองดี” นั้น จำเป็นต้องผ่านระบบการศึกษาอันเป็นค่านิยมหลักของคนในสังคม
รายละเอียดที่ปลูกฝังกึ่งๆ ยัดเยียดลงไปให้เยาวชนได้เรียนรู้นั้น จึงแอบแฝงไปด้วยประเด็นหลากหลายที่น่าสนใจมากว่ามีเป้าหมายแท้จริงเพื่อสิ่งใด ทั้งการสอนให้เห็นปัญหาของความมั่นคง การสร้างความเชื่อชาตินิยมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ ภายใต้การปกครองโดยพระมหากษัตริย์ (เช่น การเปลี่ยนวันชาติจาก 24 มิ.ย. เป็น 5 ธ.ค.) การมีสิทธิเสรีภาพ “ตามสมควร” การสร้างภาพว่าประเทศนี้เป็นหมู่บ้านที่สงบสุข และปัญหาที่เกิดขึ้นมีเพียงเรื่องของคนไม่ดี ไร้ศีลธรรม ไม่มีปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นใดมาเกี่ยวข้องด้วยเลย สุดท้ายก็การสอนให้เห็นถึงภัยของระบบคอมมิวนิสต์ ระบบที่จะไม่มีเสรีภาพ และสถาบันกษัตริย์คอยคุ้มครอง
แต่ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องราวที่เคยใช้ได้ผลและดูเป็นไปได้ในอดีต แต่ในปัจจุบัน เมื่ององคาพยพต่างๆ เริ่มมีจุดยืนที่เปลี่ยนไป ปัจจัยภายนอกและในหลากหลายไม่อาจคงตัวอยู่ได้ในสภาวะเดิม หากเรายังจำแนวคิดเรื่องความจำเป็นพื้นฐานในสังคมของพาร์สันได้ การบูรณาการคือสิ่งสำคัญที่ไม่อาจละเลย เช่นนี้แล้วหากระบบการศึกษายังเป็นกระบวนการเดียวในสังคมที่ไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับระบบอื่นๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาเป้าหมายเดิมเอาไว้ ก็เป็นที่น่าคิดว่า สิ่งที่ระบบการศึกษาต้องการจากเยาวชน ในเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่พลเมืองอย่างดีที่สุดนั้น จะสามารถสร้างปรากฏการณ์รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ให้คงอยู่ต่อไปได้ยาวนานอย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่.