top of page

ประชา(ธิปไตย+ทุน)นิยม (เขียน จาตุรณต์ พูลสวัสดิ์ / จิตรินทร์ เลิศรัตนวิสุทธิ์)

          เมื่อคราวที่ประชาธิปไตยก้าวเข้ามาในบ้านเราเป็นครั้งแรก สิ่งที่มันนำติดตัวเข้ามาด้วยไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงที่ดูคล้ายจะยิ่งใหญ่แต่น่ากังขาอยู่ในทีเท่านั้น ลิ่วล้อที่ตามมาติดๆ ไม่ห่างกันคือระบบทุนนิยมที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาอย่างเงียบงันโดยที่เราไม่ทันสังเกต

 

         ในระยะแรกมันคงเป็นเพียงต้นกล้าที่ดูอ่อนแรง แต่เมื่อลมฝนแห่งความโลภและการช่วงชิงหล่อเลี้ยงให้เติบโต ไม้ใหญ่ที่ผงาดง้ำในวันนี้แทนที่จะคอยให้ร่มเงา กลับแผ่กิ่งก้านสาขาบดบังแสงตะวันจนมืดมิด

 

         ทุนนิยม ตามความหมายที่เราถูกยัดเยียดให้ทราบมาตลอดนั้น จะมีวลีหนึ่งที่อ่านดูแล้วเห็นแก่ตัวอย่างไรชอบกลสอดแทรกอยู่เสมอว่า ‘..โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ผลกำไรสูงสุด โดยใช้ปัจจัยการผลิตน้อยที่สุด..’ พอทุนนิยมเกิดขึ้นพร้อมการมาถึงของประชาธิปไตย ความหมายของมันจึงหลอมรวมกลายเป็นการเปิดโอกาสให้เหล่านักธุรกิจเข้ามาลงทุนได้อย่างเสรี สร้างพื้นที่ตลาดการค้าให้นายทุนแข่งขันกันอย่างถูกต้องและเท่าเทียมเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ได้อย่างเป็นอิสระ

 

          จำนวนนายทุนเกิดใหม่พุ่งขึ้นสูงตามอัตราการเติบโตของทุนนิยมที่ผนวกตัวเข้ากับประชาธิปไตย ถึงตอนนี้จำนวนผู้ผลิตจึงเพิ่มขึ้นจนเกือบจะเท่ากับจำนวนผู้บริโภค การแข่งขันระหว่างผู้ค้าเลยเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงและหลายวิธีการก็มุ่งหวังแต่ผลกำไรโดยไม่ดูผลกระทบร้ายแรงมหาศาลที่เกิดขึ้นกับสังคม ความเสียหายที่ไม่ใช่แค่เรื่องของทรัพย์สินและจำนวนเงิน แต่เป็นฐานรากของโครงสร้างที่เริ่มสั่นคลอนแคลน ใครเผลอสะกิดนิดเดียวคงล้มครืนพังทลายทับคนไทยตายราบเป็นหน้ากลอง 

 

         ทุนนิยมกระตุ้นให้เกิดการบริโภคนิยมอย่างไม่รู้จักพอ สินค้าและบริการมากมายจึงได้โอกาสแสดงตัวตนหลอกล่อเย้ายวนสายตาเราไม่รู้จบ หลักการโฆษณาทำให้เรารู้สึกขาด ไม่พอ ไม่เต็ม ไม่สมบูรณ์ เราจึงไขว่คว้าและหาหนทางเติมเต็มด้วยสิ่งของที่ถูกนำมาเสนออยู่ตรงหน้าอย่างต่อเนื่อง จนเราชินชาและคุ้นเคย รับมือกับความอยากด้วยการสนองตอบแทนที่จะระงับหรือกำจัดให้หายไป วัตถุนิยมมีชัยเหนือเราโดยเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ในที่สุด

 

         ครรลองดังกล่าวดำเนินเรื่อยไปไม่หยุดยั้งในปัจจุบัน รูปแบบของทุนนิยมนั้นเรียกร้องให้มีการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตและจำเป็นต้องหลอกล่อผู้บริโภคอยู่เสมอๆ กิเลสมนุษย์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในทุกรายละเอียดของกระบวนการในระบบตั้งแต่ต้นตอจนถึงผลลัพธ์ ไม่ช้าก็กลายเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ถ้าสังคมเราจะถูกวัตถุนิยมครอบงำ พร้อมกันกับการที่พรมแดนของโลกหายไปโดยสิ้นเชิง อิทธิพลของวัฒนธรรมก็ได้เข้ามาเปลี่ยนรสนิยมในการใช้ชีวิตของพวกเราอย่างรวดเร็ว ม่านหมอกแห่งวัตถุนิยมที่ดูบางเบา ค่อยๆ เคลือบตัวแฝงรวมเข้ากับค่านิยมในการเสพสื่อ การซื้อสินค้าแบรนด์เนม การบริโภคทั้งสินค้า อาหารและบริการ 

 

         มาตรฐานการมีชีวิตอยู่ของพวกเราถูกทำให้สูงขึ้นโดยไม่รู้ตัวอีกครั้งหนึ่ง

 

          เรื่องของเรื่องก็คือ ส่ิงที่เกิดขึ้นมาจากการรวมตัวของประชาธิปไตยและทุนนิยมนั้น ดันไปตอบโจทย์โครงสร้างทางสังคมแขนงใหญ่อีกแขนงคือแขนงของการเมือง ด้วยโครงสร้างที่อ่อนแออยู่แล้วของมัน จึงไม่ยากที่นายทุนหัวใสบางคนจะหาลู่ทางในการขยายอำนาจทางธุรกิจด้วยการลงสนามเล่นเกมการเมือง ทุนนิยมนั้นสิ่งหนึ่งที่จำเป็นคือฐานลูกค้าและอำนาจที่กว้างขวาง เกมการเมืองตอบโจทย์ได้ดีพอสมควรในปัจจัยนี้ ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่เกมนี้มอบให้ได้ (แต่เราจะไม่พูดถึงกัน) คือการปรับเปลี่ยนฟันเฟืองบางตัวในระบบให้มือไม้ของตน ‘คล่องตัว’ ขึ้นมามากพอที่จะหยิบจับอะไรได้ง่ายขึ้น

 

         แน่นอน เกมสนามนี้ลงมาเล่นแล้วใช่ว่าใครจะเป็นที่หนึ่งกันได้ง่ายๆ ถ้าไม่มีฝีมืออยู่พอตัวบวกกับฝีไม้ลายมืออีกเล็กน้อยคงตกเป็นผู้แพ้ตั้งแต่ยังไม่เห็นหน้าคู่แข่งเสียด้วยซ้ำ ผู้เล่นแต่ละคนจึงหาสารพัดกลยุทธวิธีมาห้ำหั่นกันและกัน แล้วถ้าเราตรวจสอบประวัติศาสตร์ให้ดี จะเห็นได้ว่าตั้งแต่แรกเร่ิมอาวุธที่ถูกใช้ในเกมการเมืองนั้นความจริงแล้วมีอยู่ไม่กี่รูปแบบ เพียงแต่ถูกนำมาใช้โดยผลัดเปลี่ยนมือผู้เล่นแต่ละคนกันไปตามยุคสมัยซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

         แต่เมื่อประมาณทศวรรษที่ 2540 ‘ประชานิยม’ อาวุธชิ้นใหม่ที่ตอบโจทย์สอดรับอย่างดีกับโครงสร้างทางสังคมของประเทศไทยในขณะนั้นได้ถูกหยิบขึ้นมาใช้โดยผู้เล่นหน้าใหม่คนหนึ่ง จุดเด่นของประชานิยมคือการเล่นกับความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนทั่วไป ตอบสนองและยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือในจุดที่ประชาชนคิดว่าตัวเองมีสิทธิควรจะได้รับการช่วยเหลือ ทำในสิ่งที่ไม่เคยมีใครคิดจะทำมาก่อน คือการรับฟังและทำให้เสียงของประชาชนมีความหมายขึ้นมา (บ้าง)

 

         ไม่ยากเลยที่จะตกเป็นเหยื่อในเมื่อเราอยู่ในสังคมที่ทุนนิยมกับประชาธิปไตยถูกนำมาใช้ด้วยกันอย่างผิดวิธีและไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ดูท่าว่าสิ่งที่​ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์1 เคยบอกเอาไว้ว่าประชานิยมที่ดีและเป็นไปได้นั้น ต้องไม่เกิดในสังคมที่มีความเป็นเกษตรกรรมและมีความเหลื่อมล้ำกันสูงอย่างประเทศไทย เห็นจะจริงเสียแล้วเพราะตอนนี้เราติดนิสัยที่ระบบทุนนิยมสร้างให้เราเป็น เมื่อถูกล่อด้วยนโยบายสวยหรูก็เลยติดกับ ระบบสังคมที่หล่อหลอมเราขึ้นมาทำให้ใจเราถูกซื้อได้ง่ายดายเหลือเกิน

 

         ไม่นาน ผู้ชนะก็ปรากฎตัว เสียงเกินครึ่งยินยอมพร้อมใจให้ผู้นำมอบหนทางที่ง่ายดายกว่าในชีวิตให้แก่ตน ยุทธการต่อไปคือการรักษาฐานเสียงนั้นไว้โดยการทำสิ่งที่เคยพูดให้เป็นจริง ตัวอย่างหลายๆ โครงการก็มีให้เห็นกันอยู่ ทั้งสามสิบบาทรักษาทุกโรค (ที่กำลังสร้างหายนะให้กับวงการการแพทย์อยู่ตอนนี้) หรือนโยบายรถคันแรก (ที่ทำลายโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปเป็นปี) หรือแม้แต่โครงการรถเมล์ฟรี (ที่กำลังแย่เช่นกันเพราะตกอยู่ในสภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง) และโครงการอีกมากมายที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเรียกคะแนนนิยมโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่อาจตามมา

 

         ให้เปรียบก็คงเหมือนปูพื้นกระเบื้องลวดลายวิจิตรงดงาม แต่ขาดการวางแผนจากช่างที่เชี่ยวชาญและรู้จริง ส่วนผสมหรือคุณภาพของปูนที่ใช้จึงไม่ได้มาตรฐาน ไม่ช้าไม่นานพื้นกระเบื้องก็เริ่มหลุดลอกล่อนส่อให้เห็นถึงการทำงานของคนทำว่าขาดการพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนลงมือ ค่าใช้จ่ายเลยบานปลายเพราะต้องตามซ่อมแซมอยู่ร่ำไป

 

         ในความหมายที่ควรจะเป็น ประชานิยมจริงๆ แล้วโดยสรุปคือ ‘การให้ความสำคัญหรือให้คุณค่าแก่ประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง เป็นการบริหารประเทศที่เน้นการให้คุณค่าแก่ประชาชนโดยเฉพาะประชาชนทั่วไป การเมืองที่เห็นความสำคัญของประชาชนทั่วไปจึงเป็นประชานิยมเสมอ’ แต่บริบทของสังคมไทยได้เปลี่ยนประชานิยมในความหมายสากลให้กลายเป็นในอีกรูปแบบหนึ่ง  นักการเมืองที่ควรจะทำงานตามจรรยาบรรณกลับทำตัวเป็นนักธุรกิจ ใช้วิธีการของนายทุนมาบริหารบ้านเมือง

 

         นักการเมืองคือคนที่ต้องเห็นผลประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวมมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่นายทุนคือคนที่ถือผลประโยชน์ของตัวเองมาก่อนเสมอ การใช้อำนาจรัฐในการผูกขาดธุรกิจบางส่วนที่ให้ผลประโยชน์สูงสุดในระบบเศรษฐกิจของประเทศอาจถือได้ว่าอำนวยประโยชน์ให้แก่ตัวเองและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือแม้แต่อำนาจในการกำหนดนโยบายให้เกิดช่องว่างเว้นให้ตนได้เข้าไปกอบโกยได้อย่างเต็มที่ นายทุนใหญ่กลายเป็นนักการเมืองที่เข้ายึดกุมอำนาจรัฐโดยตรง ใช้อำนาจรัฐผูกขาดและแสวงหากำไรทางธุรกิจที่มีผลประโยชน์สูง เรียกง่ายๆ ว่า ‘นายทุนใหญ่ผูกขาดสามานย์’ 

 

         การเมืองใช้อำนาจที่ตัวมันและผู้ครอบครองมีอยู่มาบริหารจัดการองค์การ ตลอดจนการวางระบบ วางหลักเกณฑ์และมาตรฐานในการทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทำให้ฐานตำแหน่งที่ยืนอยู่นั้นแข็งแกร่ง ยิ่งได้คนมาเป็นพวกกว้างขวางมากเท่าใด ยิ่งเอื้ออำนวยและเสริมกำลังมากขึ้นเท่านั้น

 

         คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเมื่อประชานิยมเกิดขึ้นมาเพราะการมีอยู่ของทุนนิยมและประชาธิปไตย ที่สำคัญคือเราจะใช้มันอย่างไรให้เกิดผลดีมากกว่าผลเสีย ประชาชนอย่างพวกเราก็คงทำได้แค่ตั้งสติให้มั่นและรับมือไปตามยถากรรม แต่ในฐานะผู้นำบ้านเมือง ขอความกรุณาพึงระมัดระวังให้จงดี นักแสดงเล่นเป็นตัวประกอบน้อยครั้งไม่อาจเลื่อนขึ้นเป็นตัวเอกได้ฉันใด ของบางอย่างไม่ผ่านการลองผิดลองถูกมามากพอก็ไม่อาจไว้วางใจให้ใช้จริงได้ฉันนั้น

 

         ประชานิยมก็เช่นกัน.

bottom of page