
ความรุนแรงสร้างประชาธิปไตยไม่ได้
“...ความรุนแรงเป็นศัตรูกับประชาธิปไตย เพราะมันทำลายกติกาพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เมื่อความรุนแรงเกิดขึ้น การทำงานของกติกาพื้นฐานยุติลง การทำงานของเหตุผลก็ยุติลง เมื่อนั้นก็ไม่มีใครได้ประโยชน์จากประชาธิปไตยอีกต่อไป...”
ประจักษ์ ก้องกีรติ, มิถุนายน 2014
หนึ่งในสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ที่ฝังรากลึกอยู่บนพันธุกรรมมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์คือการเอาชีวิตรอด จากสัญชาตญาณนั้นเองที่ประกอบสร้างลักษณะนิสัย “การเลือกใช้ความรุนแรง” ให้แฝงตัวอยู่ในสายใยกรรมพันธ์ของเรา ส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่นในช่วงเวลานับพันปีจนถึงปัจจุบัน เหตุผลที่คาดเดาได้ไม่ยากคือการเลือกรักษาผลประโยชน์เพื่อการเอาชีวิตรอดของตนหรือกลุ่มสังคมที่ตนอาศัยอยู่ จนทำให้เส้นทางประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติเกือบทุกสายแดงฉานไปด้วยเลือด
แต่แล้วกาลเวลาก็เดินทางมาถึงจุดที่คนบางกลุ่มในสังคมเริ่มทำการเรียนรู้ว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหา และรังแต่จะสร้างชนวนต่อความเกลียดชังให้ฝังรากลึกลงไปมากขึ้นเท่านั้น ระบบสังคมที่มีความเชื่อเดิมว่าการใช้สัญชาตญาณดิบอย่างความรุนแรงในการป้องกันพวกพ้อง เป็นแนวทางที่ถูกต้องและชอบธรรมที่สุดแล้วนั้น ถูกสั่นคลอนด้วยความรู้และทัศนคติที่แตกต่างออกไปว่า มีหนทางที่มนุษย์เราจะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องมีการเสียเลือดเสียเนื้ออยู่
ความรู้ (Knowledge) ของการอยู่ร่วมกันในสังคม ปรากฎให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อมนุษย์เร่ิมตระหนักถึงภัยร้ายของสงครามและความสำคัญของพลเมืองในฐานะปัจเจกบุคคลมากขึ้น ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณมาจนถึงปัจจุบัน ประชาธิปไตยเติบโตและเคลื่อนย้ายตามยุคสมัยอันรุ่งโรจน์ของแต่ละอาณาจักรมาโดยตลอด (กรีก โรมัน ยุโรป อเมริกา จนถึงปัจจุบัน) ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องและก่อปฏิวัติทางประวัติศาสตร์จำนวนมากในหลายพื้นที่ เพราะความรู้ใหม่ชุดใหม่นี้ได้ทำลายระบบความเชื่อเดิมไปเสียเกือบทั้งหมด
น่าขันตรงที่ว่า ระบอบที่เรียกร้องสิทธิเท่าเทียมอย่างประชาธิปไตยนี้ เส้นทางการเกิดขึ้นของมันกลับโชกโชนและฉานไปด้วยเลือดไม่ต่างอะไรจากยุคสมัยการปกครองแบบอาณานิคม หากลองเชื่อตามที่อาจารย์ประจักษ์อธิบายไว้ว่า วิธีการสร้างประชาธิปไตยนั้นจำเป็นต้องมีปัจจัยดังนี้เป็นส่วนประกอบ 1.ต้องมีความอดทน 2.ต้องมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม 3.อยู่ในกรอบประชาธิปไตย 4.เคารพความแตกต่างหลากหลาย เมื่อมีสี่ปัจจัยนี้เป็นองค์ประกอบแล้ว ประชาธิปไตยโดยแท้จึงจะเกิดขึ้น
แต่ทุกการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในอดีตนั้น กลับเต็มไปด้วยภาพบันทึกของการไม่มีความอดทน ความไม่เท่าเทียม ไม่อยู่ในกรอบประชาธิปไตย และไม่เคารพซึ่งเสียงที่แตกต่างกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างมีอุดมการณ์หนุนหลัง บวกกับความเชื่อและทัศนคติของตน สัญชาตญาณในการเอาตัวรอดเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ และการปกป้องพวกพ้องจากสิ่งที่คิดเห็นแตกต่างและคล้ายจะเป็นศัตรู ความรุนแรงจึงถูกนำมาใช้ในฐานะอาวุธขจัดภัยอันตราย สงครามกลางเมืองจำนวนมากจึงเกิดขึ้น มนุษย์ -- ไม่ว่าจะกลุ่มไหนก็ตาม -- ลืมเลือนความถูกต้องและมนุษยธรรม เรียกร้องเอาผลประโยชน์สูงสุดของตน เมื่อหาทางออกไม่ได้ จึงเป็นอีกครั้งที่พละกำลังถูกนำใช้มาตัดสินผลลัพธ์แทนปัญญา
ที่น่าคิดก็คือ โดยตัวระบอบประชาธิปไตยเองแล้ว เรียกร้องการพูดคุยและถกเถียงกันด้วยเหตุผล เพราะเป็นระบอบที่ต้องการให้ทุกคนในสังคมมีความเสมอภาค มีเสียงเท่ากัน และมีสิทธิที่จะส่งเสียงเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ของตน
แน่นอนว่าบ่อยครั้ง ที่การถกเถียงกันด้วยเหตุผลอาจนำไปสู่ความรุนแรง นี่คือปัญหาหลักของระบบสังคมที่มีลักษณะความเป็นประชาธิปไตยแฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นระบบสังคมเล็กอย่างครอบครัว ไปจนถึงระบบสังคมใหญ่อย่างประเทศหรือสภาโลก คือ กลุ่มคนแต่ละฝ่ายไม่อาจรักษาความมีสติในการโต้เถียงกันด้วยเหตุผลไว้ได้ตลอดระยะเวลาการพูดคุยหารือ เพื่อหาข้อสรุปที่พอใจได้สำหรับทุกฝ่าย เมื่อถึงจุดหนึ่ง เมื่อการปะทะกันมาถึงจุดที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อาจยอมรับข้อตกลงได้ การถกเถียงกันด้วยเหตุผลจะนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง และย้อนกลับไปที่ความรุนแรงอยู่เสมอ
ปัญหานี้เป็นเรื่องของการไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่พยายามทำความเข้าใจคนที่คิดต่างออกไป และการไร้ความสามารถในการโน้มน้าวจูงใจฝ่ายอื่นให้ตระหนักถึงปัญหาของตนได้นั่นเอง
เพราะหากคนในสังคมส่วนหนึ่งยังคงคิดว่า ตัวเองจะต้องได้ในสิ่งที่ตัวเองสมควรจะได้ โดยไม่คำนึงถึงขอบเขต เสรีภาพ และความเดือดร้อนที่จะส่งผลให้เกิดต่อผู้อื่น การต่อสู้ทั้งทางนามธรรมและรูปธรรมก็จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ เนื่องจากประชาธิปไตย ไม่ได้มอบผลประโยชน์ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยแท้จริง แต่มอบสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและเรียกร้องอย่างเท่าเทียมกัน เปิดโอกาสให้เกิดการพูดคุย เพื่อทำความเข้าใจในปัญหาของแต่ละฝ่ายให้มากขึ้น และเรียกร้องมนุษยธรรมที่ดูเหมือนจะหายไปจากจิตใจของคนในสังคมให้กลับมา
ผลลัพธ์ของประชาธิปไตยจึงอาจไม่ใช่คำตอบที่น่าพอใจสำหรับทุกฝ่าย (win-win situation) เพราะแนวทางของประชาธิปไตยสมควรเป็นวิถีแห่งความเสมอภาค แก่นแท้ของมันจึงเป็นเรื่องของการประนีประนอม ไม่เอารัดเอาเปรียบ เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวจนไม่คำนึงถึงผู้อื่นในฐานะมนุษย์ที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน ในบางครั้งประชาธิปไตยอาจจะไม่ได้มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับฝ่ายใดเลยก็เป็นได้ แต่มันจะให้คำตอบที่เหมาะสมที่สุดโดยไม่ให้มีใครเสียผลประโยชน์ หรือได้ผลประโยชน์ไปมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง
การมีเหตุผลจึงเป็นเรื่องสำคัญมากในระบอบประชาธิปไตย การหันหน้าเข้าหาและพูดคุย การเข้าใจถึงปัญหาอย่างแท้จริง การอดทนและรับฟังสิ่งที่แตกต่างออกไปจากความคิดของตน การเปิดใจรับรู้ปัญหาคนอื่น การมองเห็นมนุษย์คนอื่นในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบของระบอบประชาธิปไตย ที่จะจัดสรรดูแลคนในสังคมให้ได้รับผลประโยชน์ที่เหมาะสม หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือไม่เสียผลประโยชน์ที่ตัวเองสมควรจะได้ไปนั่นเอง
ความรุนแรงจึงไม่อาจอยู่ได้ในระบอบประชาธิปไตย เพราะความรุนแรงไม่เรียกร้องเหตุและผล ไร้ความอดทน ไม่เปิดใจรับฟัง และส่งเสริมการลดทอนความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้ามอยู่ตลอดเวลา ความรุนแรงเรียกร้องผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นการเปิดฉากสร้างประชาธิปไตยด้วยความรุนแรง และอ้างว่าทำเพื่อส่วนรวม จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยตลอดรอดฝั่ง หากผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายสมควรจะได้อย่างเท่าเทียม ยังถูกหลบซ่อนและเอารัดเอาเปรียบ ผ่านวิธีการใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมของชนชั้นปกครองโดยไม่มีใครตรวจสอบได้
เพราะสิ่งที่ประชาธิปไตยต้องการจริงๆ อาจเป็นแค่การมองเห็นมนุษย์ในฐานะมนุษย์ที่เท่ากันเท่านั้นเอง.