
CITIZENFOUR
“..Democracy may die behind closed doors, but we as individuals are born behind those same closed doors, and we don't have to give up our privacy to have good government. We don't have to give up our liberty to have security. And I think by working together we can have both open government and private lives, and I look forward to working with everyone around the world to see that happen.”
Edward Snowden (TED Talk Live 2014)
ประชาธิปไตยอาจจะตายไปแล้วอย่างที่สโนว์เดนว่าไว้ แต่เรื่องน่ากลัวที่อาจเกิดขึ้นได้มากกว่าคือความจริงที่ว่าประชาธิปไตยไม่เคยมีโอกาสเกิดขึ้นมาด้วยซ้ำ จากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง CITIZENFOUR ผลงานของผู้กำกับหญิงชาวเยอรมัน Laura Poitras เราพบความจริงและเป็นไปได้หลายประการที่หนังอาจตั้งใจหรือบังเอิญสื่อสารออกมาให้เราได้รับทราบโดยไม่ตั้งใจ
เรื่องที่สารคดีนี้บอกได้ชัดที่สุดคือ การเปิดเผยข้อมูลจากอดีตบุคลากรที่ทำงานให้กับองค์กรของรัฐอย่าง NSA ว่ารัฐบาลของประเทศมหาอำนาจบางประเทศที่อ้างว่าตัวเองอยู่ภายใต้การปกครองรูปแบบประชาธิปไตย สามารถเข้าถึงข้อมูลในชีวิตประจำวันของประชาชนทุกคนได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่ประชาชนไม่รับรู้ หรือรู้แต่ไม่เข้าใจความร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากกรณีดังกล่าว สารคดี CITIZENFOUR จึงเป็นการกระตุ้นการตระหนักรู้ของมวลชนครั้งแรกที่ทำได้ประสบความสำเร็จในระดับน่าพอใจ อย่างที่ควรจะเป็นตามที่ Edward Snowden อธิบายไว้ในหนังว่า
“We all have a stake in this, this is our country and the balance of power between the citizenry and the government is becoming that of the ruling and the ruled as opposed to actually, you know, the elected and the electorate.”
การลุกขึ้นมาเปิดเผยเรื่องจริงนี้ของกลุ่มผู้ผลิตสารคดี สร้างแนวมุมมองใหม่ต่อประเด็นความเป็นส่วนตัวตามกฎหมายของพลเมืองสหรัฐ ให้มาจับตามองการกระทำของรัฐบาลที่ปกครองตนเองมากขึ้น เพราะสิ่งที่รัฐครอบครองอยู่ในมือไม่ใช่แค่ข้อมูลปฐมภูมิทั่วไป แต่เป็นข้อมูลขนาดใหญ่ ที่ในสารคดีใช้คำว่า Metadata อันเป็นข้อมูลส่วนตัวของประชาชนแต่ละคน ที่บันทึกข้อมูลทุกประเภทผ่านอิเล็กทรอนิคส์การ์ดหลากหลายชนิด โดยที่แค่ทราบข้อมูลจากบัตรเครดิต บัตรรถไฟใต้ดิน และข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือ ก็สามารถคาดเดาได้ว่าบุคคลผู้นั้นกำลังทำอะไร กินอะไร ซื้ออะไร เดินทางไปที่ไหน และยังสามารถเช็คข้อมูลจากผู้ใช้งานการ์ดประเภทเดียวกันในแถบใกล้เคียงได้ จนสามารถคาดเดากลุ่มคนอื่นๆ ที่กำลังทำกิจกรรมเดียวกันอยู่ได้ และรับรู้ข้อมูลของบุคคลนั้นต่อไปอีกทอดหนึ่ง
“Metadata is content. It tells a story about you, which is made up of facts, but is not necessarily true. So for example, just because you were on the corner, and all these data points point to it, it doesn’t mean you committed the crime. So it’s important to note that if someone has a perception of you having done a thing, it will now follow you for the rest of your life.”
Jacob Appelbaum (Occupy Wall Street security training)
สิ่งนี้ทำให้ผู้สามารถเข้าถึงข้อมูล Metadata ของใครก็ตาม มีอำนาจมากพอระดับฟ้ามีตา คือรับรู้การมีชีวิตอยู่ของคนในโลกปัจจุบันที่ฝากข้อมูลไว้ในโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งแนวโน้มการมีชีวิตอยู่ในรูปแบบดังกล่าวก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ความสำคัญจึงอาจไม่ใช่การตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของอินเตอร์เน็ตหรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการใช้งานของอินเตอร์เน็ต แต่น่าจะเป็นว่าควรทำยังไงให้เราสามารถไว้วางใจรัฐบาลได้อย่างเต็มร้อย หรือระงับอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวของรัฐบาลให้มีแบบแผนมากขึ้น และอยู่ภายใต้องค์กรที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้
หน้าที่ของรัฐ แน่นอนว่าคือการปกป้องพลเมืองให้ได้รับความปลอดภัย แต่กระนั้นความชอบธรรมในการใช้ข้อมูลส่วนตัวของประชาชนมาเป็นตัวประกันในการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวจะถูกต้องหรือไม่ เมื่อรัฐอ้างเอาความอันตรายถึงชีวิต และการโดนโจมตีจากผู้ก่อการร้ายมาเป็นข้ออ้าง สร้างข้อตกลงและเงื่อนไขให้ตนเองสามารถกระทำการเข้าถึงข้อมูลที่สมควรจะเป็นส่วนตัวของประชาชนได้โดยเบ็ดเสร็จ เพียงเพราะต้องการปกป้องประชาชนจากความไม่ปลอดภัยจากภายนอก
ความขัดแย้งของการใช้ความปลอดภัยมาปกป้องอันตรายจนสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยนี้ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สารคดี CITIZENFOUR จุดประกายความตระหนักรู้ของประชาชนถึงสิทธิของตนได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะไม่ว่าอย่างไร ความรู้สึกถึงอันตรายจากองค์กรรัฐที่ปกครองตนเอง น่าจะสร้างความน่ากลัวแบบฝังรากลึกได้มากกว่าอันตรายจากภายนอก
ประเด็นแฝงอีกประการหนึ่งก็คือ อำนาจที่รัฐสามารถเข้าถึงข้อมูล Metadata นี้ได้โดยไม่มีใครตรวจสอบ หรือไม่ใครล่วงรู้นั้น ในวันหนึ่งอาจพัฒนากลายเป็นการควบคุมข้อมูลแบบเบ็ดเสร็จ เมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลไม่ได้รับผลประโยชน์ หรือมีจุดประสงค์ที่ขัดแย้งต่อความต้องการอันชอบธรรมของประชาชน หรือที่เลวร้ายที่สุด หากการขับเคลื่อนพลเมืองให้เป็นไปตามที่รัฐต้องการ ดำเนินไปถึงจุดหนึ่งที่การกระทำของรัฐถือว่าผิดทำนองคลองธรรม เอาเปรียบประชาชน บีบบังคับประชาชนให้ต้องกระทำตามความต้องการของตนโดยไม่ชอบ ความพยายามใดๆ ของประชาชนจะไม่เกิดผลขึ้นเลย เมื่อทุกการเคลื่อนไหวสามารถถูกรัฐบาลตรวจสอบได้ตลอดเวลา และหากปล่อยไปให้ถึงเวลานั้น การควบคุมแบบฟ้ามีตาอาจไม่ปรากฎให้พวกเราเห็นเสียด้วยซ้ำไป เพราะเราพึงพอใจกับการถูกดูแลรักษา ในฐานะพลเมืองของรัฐที่ยืนยันว่ามีมาตรการตรวจสอบอันตรายที่ยอดเยี่ยม โดยไม่ได้ระมัดระวังอะไรเลย
ต่อให้ไม่ต้องคาดการณ์ไปไกลขนาดนั้น การกระทำของรัฐบาลยังบ่งบอกถึงสถานะทางอำนาจระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้อีกด้วย เพราะประชาธิปไตยนั้นผู้มีอำนาจคือประชาชน ประชาชนเพียงมอบอำนาจให้ผู้นำทำการปกครองตนให้ดีที่สุด แต่การกระทำของรัฐบาลสหรัฐตามที่หนังกล่าวอ้าง บ่งบอกว่ารัฐเร่ิมก้าวเข้าสู่สภาวะที่คิดว่าตนเองมีอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จ เพียงเพื่อที่จะป้องกันให้ประชาชนของตนได้รับความปลอดภัย การปฏิบัติหน้าที่เลยเถิดจนล่วงละเมิดสิทธิประชาชนเป็นสัญญาณบอกถึงการก้าวล้ำเส้นแบ่งระหว่างอำนาจตามหน้าที่กับอำนาจโดยชอบธรรมขึ้นมา การมีชีวิตอยู่ของประชาชนทั่วไป แม้แต่คนที่ตัวเล็กที่สุด หรือคนที่อยู่ในกรอบสังคมอันดีงามที่สุด ก็ยังถือว่าเป็นเสรีภาพอันชอบธรรมที่จะมีชีวิตอยู่โดยไม่หวาดกลัวว่าตนกำลังถูกเฝ้ามอง
ตามปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งหมด (หรืออาจจะเกิดไปแล้วบ้างบางส่วน) ได้ผลักดันให้ Edward Snowden ตัดสินใจออกมาเปิดเผยข้อมูลในองค์กรที่ตนทำงานอยู่ ในฐานะวิศกรคอมพิวเตอร์ผู้ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและออกแบบโปรแกรมต่างๆ ให้กับ NSA สโนว์เดนเรียกความเชื่อถือในฐานะแหล่งข่าวฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลได้อย่างยอดเยี่ยม หนังสารคดีชุดนี้จึงไม่ใช่แค่เพียงเปิดโปงข้อมูลทีสโนว์เดนอยากจะบอกเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่คนกล่าวขวัญให้เขาเป็น The Whistleblower แห่งยุคสมัย และกลายเป็นจุดสนใจพอๆ กับเรื่องที่เขาทำการเปิดเผยเลยทีเดียว
จากในสารคดีจะเห็นว่าสโนว์เดนเร่ิมต้นจากการทำการติดต่อกับลอร่าผ่านทางโค้ดเนมลับว่า Citizenfour ไปจนถึงการนัดพบ ติดต่อสื่อสารกับแหล่งข่าวต่างๆ จนกว่าจะได้มาพบกันที่ฮ่องกงนั้นต้องผ่านการสื่อสารแบบถอดรหัสจำนวนมาก สื่อให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกรัฐบาลจับตามอง ทั้งๆ ที่โดยความเป็นจริงแล้วสิทธิในการทำหนังสารคดีสักเรื่องควรเป็นไปได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หรือถูกการแทรกแซงจากอำนาจของฝ่ายใด
การผลักดันจากทุกตัวละครในสารคดีจึงถือว่ามีความสำคัญมากที่ส่งให้ข้อมูลถูกเปิดเผยออกมาได้โดยสำเร็จ แม้จะยังไม่รู้จุดจบที่แน่ชัดได้แต่ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ก็ได้กระตุ้นความสนใจของคนกลุ่มหนึ่งไปแล้วบ้างไม่มากก็น้อย และการได้รับรางวัลออสการ์ก็เป็นการยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า ชื่อภาพยนตร์สารคดี CITIZENFOUR จะไม่ถูกทำให้หายไปโดยง่าย
เรื่องแนวทางการนำเสนอเรื่องในลักษณะรูปแบบของสารคดีนั้น ต้องยกความดีความชอบให้กับด้านผู้กำกับสาว ที่เป็นคนยืนยันกับสโนว์เดนเองว่าถ้าจะทำให้เรื่องนี้ประสบความสำเร็จได้ ต้องทำให้เป็นหนังสารคดีและต้องเปิดเผยใบหน้าของสโนว์เดนระหว่างการถ่ายทำเป็นพิเศษด้วย เพราะในตอนแรกสโนว์เดนมีแค่ความคิดเพียงว่าจะส่งข้อมูลให้กับลอร่าเท่านั้น แล้วให้ลอร่านำไปทำเป็นหนังสารคดีเอง (โดยเปิดเผยชื่อสโนว์เดนได้) เนื่องจากสโนว์เดนไม่อยากให้คนโฟกัสที่ตัวตนของเขามากจนลืมไปว่า ประเด็นที่เขานำเรื่องนี้มานำเสนอเป็นเพราะอะไรกันแน่


หนึ่งในจุดก้าวผ่านที่สำคัญของเรื่องคือการวางแผนเปิดตัวข้อมูลต่างๆ ของ Glenn Greenwald ที่มีการลำดับความสำคัญอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและวางแผนอย่างรัดกุม เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลนี้ทางสื่อเป็นไปโดยตลอดรอดฝั่งมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ความพยายามของกรีนวัลด์และการเปิดเผยตัวของเขาจะทำให้ชีวิตส่วนตัวของเขาได้รับผลกระทบ แต่กรีนวัลด์ก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งอย่างยิ่งที่ส่งต่อให้ข้อมูลนี้ออกสุ่สายตาสาธารณชนได้สำเร็จ และยังเป็นตัวแทนในการติดต่อสื่อสารโดยส่วนใหญ่ในกระบวนการนี้อีกด้วย เนื่องจากตัวสโนว์เดนเองนั้น ไม่สามารถปรากฎตัวได้ตามที่สาธารณะ และจำเป็นต้องย้ายไปอยู่ประเทศอื่นเพราะถือเป็นบุคคลนอกกฎหมายตามคำสั่งรัฐบาล
ในส่วนนี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลอเมริกันยังแตะต้องกรีนวัลด์มากไม่ได้ เนื่องจากประชาชนของตนให้ความสำคัญกับสิทธิพลเมืองและหน้าที่ของสื่อมวลชนเป็นพิเศษ การออกมาตอบโต้อย่างชัดแจ้งในเรื่องนี้อาจสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลของประเทศที่อ้างตัวว่าเป็นรัฐแห่งการแสดงออกทางเสรีภาพ จนคนทั้งรัฐมีความอ่อนไหวกับเรื่องดังกล่าวมาก
นี่อาจเป็นกันชนชั้นยอดให้กับการทำงานของสโนว์เดน เพราะแม้ตัวเองจะถือว่ามีความผิดฐานทำลายความมั่นคงในประเทศของตัวเอง จนไม่สามารถอยู่ในประเทศได้อย่างสงบ แต่สโนว์เดนก็ถือไพ่ตายเรื่องเสรีภาพของสื่อเอาไว้อยู่บ้าง (ถึงภายหลังเหตุการณ์นั้นจะทำให้ The Guardian ถูกจับตาในทันที) แต่เราก็พอจะมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่า ตราบใดที่สโนว์เดนยังคงได้รับการคุ้มครองอยู่ภายนอกประเทศ และสามารถส่งข้อมูลต่างๆ (ที่เจ้าตัวบอกเอาไว้ว่ายังมีอีกเยอะมากนั้น) ให้กับสื่อมวลชนที่มีอุดมการณ์กล้าหาญพอเข้ามาในสหรัฐ ก็ยังถือว่าขบวนการนี้ยังไม่หมดหวัง
นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ฝั่งสโนว์เดนถือแต้มต่อสูงกว่าผู้เปิดเผยข้อมูลในอดีต คือการเปิดเผยหน้าตาของตน และบอกอย่างชัดเจนว่าตัวเองเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน ทำให้สภาวะทางอำนาจในระบบนี้เปลี่ยนไป หากหนีไปหลบซ่อนโดยไม่เคยปรากฎตัวก็จะทำให้เรื่องเงียบหาย และรัฐกลายเป็นผู้ควบคุมข่าวสารแต่เพียงฝ่ายเดียว สโนว์เดนทำให้ตนเองมีอำนายเทียบเท่ากับฝั่งรัฐได้ และอยู่ในฐานะที่เป็นฝ่ายเป็นต่อ
“I don’t want to hide on this and skulk around, I don’t think I should have to. Obviously there is circumstances that are saying that. I think it is powerful to come out and be like, look I’m not afraid and I don’t think other people should either. You know, I was sitting in the office right next to you last week, we all have a stake in this, this is our country. The balance of power between the citizenry and the government is becoming that of the ruling and the ruled, as opposed to actually, you know, the elected and the electorate. I didn’t try to hide the footprint because again I intended to come forward.”
Edward Snowden, CITIZENFOUR
พลังอำนาจที่อยู่ในมือของสื่อมวลชนที่มีวิสัยทัศน์และไม่ยอมลดหัวลงโดยง่าย เสริมให้พลังอำนาจในการส่งต่อข้อมูลของสโนว์เดนมีพลังมากขึ้น จากภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะเห็นได้เลยว่าอำนาจของสื่อถือว่ามีสิทธิขาดในช่วงเวลาที่เหมาะสม และสร้างสถานะของชัยชนะที่เป็นไปได้ขึ้นมาชั่วระยะหนึ่ง ดูได้จากการที่มันพลิกสถานะของสโนว์เดนให้กลายเป็นที่รู้จักจนได้รับฉายาว่า The Whistleblower ในเวลาไม่นาน
ลักษณะของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ที่ทำให้มีความน่าสนใจก็คือ การปะทะกันระหว่างสองขั้ว ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและเป็นเรื่อจริงนั้น รุนแรงพอสูสีกับหนังเขียนบทใหญ่หลายเรื่องได้ ทำให้สิ่งที่หนังต้องการจะสื่อสารชัดเจนและตรงประเด็น เป็นการเผชิญหน้ากันของสองฝั่งที่ขัดแย้งและต้องรับมือกับการเลือกกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง ในฐานะที่เป็นบทภาพยนตร์แล้ว CITIZENFOUR มีความเหมาะสมท่จะอ้างตัวว่าเป็นภาพยนตร์เขียนบทขึ้นมาเองได้ไม่ยาก
แต่การที่คนดูรับรู้ว่านี่คือเรื่องจริงในฐานะภาพยนตร์สารคดี ทำให้ความเข้มข้นและองค์ประกอบต่างๆ พุ่งขึ้นไปมากกว่าหนังทั่วไปเสียอีก และตัวบุคคลในเรื่อง (ผู้แสดง) สามารถสื่อสารความรู้สึกทั้งหมดได้ชัดเจนเพราะเป็นเรื่องจริง
เรื่องนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับผู้กำกับอย่างลอร่า เพราะมุมกล้องทุกมุมของเธอบอกเล่าอารมณ์ของหนังได้ชัดที่สุด จนมุมกล้องที่ควรจะดูไม่มืออาชีพ หรือดูไม่เหมาะสมต่อองค์ประกอบของภาพตามที่ควรจะเป็นนั้น กลับส่งให้เรื่องน่าสนใจและเข้าถึงอารมณ์คนดูได้มากขึ้น เราสามารถสังเกตได้เลยว่าแม้แต่คนที่อยู่หลังกล้องก็มีความหวาดกลัวและระมัดระวังตลอดเวลา ราวกับว่าจะมีอะไรนอกเหนือความคาดหมายเกิดขึ้นมาได้ทุกวินาที มุมกล้องที่สั่นไหว ภาพมุมกว้างที่ไม่จำเป็น บอกสถานะของผู้เฝ้าระวังที่ไม่อาจอยู่นิ่งเฉย หรือผู้สังเกตการณ์ที่ต้องการเก็บทุกรายละเอียด
ย้อนกลับมาที่การกระทำของรัฐาล คำถามที่น่าสนใจก็คือ หากรัฐบาลทำไปโดยมีเจตนาเพื่อปกป้องและตรวจสอบพลเมืองในอาณัติของตนจริงๆ แล้วสิ่งนี้ยังถูกต้องอยู่หรือไม่ การกีดกันตัวสโนว์เดนไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดีขึ้นในแง่นี้ การปะทะกันของข้อมูลสองฝ่ายจึงอาจจะยากที่จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นกลาง เนื่องจากสโนว์เดนเป็นฝ่ายแรกที่อ้างเอาคำว่าพลเมืองขึ้นมาอยู่ฝั่งตัวเองก่อน และแน่นอนว่าพลเมืองส่วนใหญ่ต้องรู้สึกถึงคำถามที่สโนว์เดนยิงใส่เข้ามา ว่ามันถูกต้องแล้วหรือที่รัฐจะปฏิบัติต่อประชาชนเยี่ยงนี้ เนื่องจากวิถีสังคมต่อเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ รัฐบาลไม่อาจใช้ความถูกต้องชอบธรรมแบบที่เคยใช้กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายมาปะทะกับสโนว์เดนได้ เพราะสโนว์เดนเป็นฝ่ายที่กำลังต่อสู้เพื่อมวลชน และสโนว์เดนเองก็พลเมืองคนหนึ่ง แล้วเพราะเหตุใดรัฐบาลจึงมองว่าพลเมืองของตนเป็นศัตรูในเรื่องที่เขาทำเพื่อส่วนรวม

สารคดีเรื่องนี้ยังเปิดเผยเรื่องต่างๆ ของรัฐบาลประเทศมหาอำนาจอีกหลายเรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้สารคดี CITIZENFOUR ควรค่าแก่การศึกษาก็เพราะว่ามันเปิดโอกาสให้เราเรียนรู้เรื่องของการตั้งคำถามกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ตลอดเวลา มันสอนให้เราให้ความสนใจและอย่ายอมเป็นฝ่ายที่ถูกป้อนข้อมูลเพียงฝ่ายเดียว เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเมื่อไหร่ที่ข้อมูลที่เข้ามาถึงเรานั้นถูกคัดกรองแล้วอย่างดีจากรัฐ การตั้งคำถามและเปิดรับข้อมูลอย่างทั่วถึงจำจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย ที่ข้อมูลจำนวนมากหลั่งไหลไปมาจนแทบจะกลายเป็นลมหายใจที่ต้องสูดดมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว
ยิ่งเมื่อก้าวเข้าไปสุ่ยุคสมัยที่ข้อมูลคืออำนาจมากขึ้นเท่าไหร่ การใช้เนื้อหาของข้อมูลมาเป็นตัวขับเคลื่อนสภาวะต่างๆ ในสังคมจะยิ่งเกิดขึ้นมากเท่านั้น และผู้ที่สามารถคาดการณ์การเคลื่อนไหวของกระแสข้อมูลได้โดยไม่ถูกปิดตา หรือถูกทำให้ตาบอดไปเสียก่อน ก็จะล่วงรู้และรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้อย่างทันท่วงที.