
เราได้อะไร...? จากการเป็นเมืองหนังสือโลก
ผ่านมาแล้ว 1 ปี กับการที่กรุงเทพมหานครได้รับการคัดเลือกเป็น “เมืองหนังสือโลก” ลำดับที่ 13 ประจำปี 2556 จากการคัดเลือกขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก้
ถึงเวลาที่กรุงเทพฯต้องส่งมอบสถานะการเป็นเมืองหนังสือโลกให้เมืองอื่นๆ ต่อ ส่ิงที่หลายคนคงอยากรู้มากที่สุดคือ ตั้งแต่วันที่ได้รับเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลกจนถึงวันนี้ กรุงเทพมหานครได้ทำอะไรไปแล้วบ้างในฐานะ “เมืองหนังสือโลก”
เพื่อตอบคำถามดังกล่าว พร้อมกับนำเสนอผลงานและความคืบหน้าในการดำเนินการส่งเสริมการอ่านตาม 5 ยุทธศาสตร์ 9 พันธกิจในรอบปีที่ผ่านมา และถือโอกาสนี้เป็นสัญญาณส่งมอบตำแหน่งเมืองหนังสือโลกให้กับ เมืองพอร์ต ฮาร์คอร์ท สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย เมืองหนังสือโลกลำดับที่ 14 ประจำปี 2557 ทางกรุงเทพมหานครจึงจัดงาน นิทรรศการ “เล่าเรื่อง เมืองหนังสือโลก” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครครั้งนี้ขึ้นมา
ภายในงานมีการจัดแสดงทั้งหมด 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นห้องสมุด, ชั้น 1 และชั้น 3 แบ่งเนื้อหาเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกบริเวณโถงชั้น 1 นำเสนอเส้นทางความเป็นมา “กว่าจะเป็นเมืองหนังสือโลก” และที่มาของ 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การสื่อสารสาธารณะเพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางสังคม 2.การกำหนดนโยบายอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง 3.การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งและต่อเนื่อง 4.การพัฒนาและขยายพื้นที่ส่งเสริมการอ่านที่เข้าถึงง่าย 5.การสร้างกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่หลากหลายครอบคลุมทุกช่วงวัย โดยทั้ง 5 ยุทธศาสตร์นี้จะนำไปใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนทั้ง 9 พันธกิจ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการอ่านต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น
ส่วนที่ 2 คือบริเวณชั้นห้องสมุด (ชั้นใต้ดิน) และชั้น 3 จะนำเสนอความก้าวหน้าและผลงานการขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมการอ่านทั้ง 9 พันธกิจ คือ 1.การจัดตั้งหอสมุดกรุงเทพมหานคร 2.การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูน 3.การสร้างวัฒนธรรมการอ่านเพื่อสร้างวัฒนธรรมความคิด 4.การส่งเสริมการอ่านในเด็กและเยาวชน 5.ตามหาวรรณกรรมของคนกรุงเทพฯ 6.การส่งเสริมการอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์เพื่อความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ 7.การส่งเสริมการอ่านหนังสือพัฒนาจิตใจ 8.การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านร่วมกับภาคีเครือข่าย 9.การเป็นเจ้าภาพจัดประชุม IPA Congress 2014
ซึ่งหลายๆ โครงการได้เริ่มดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ทั้งการก่อสร้างหอสมุดกรุงเทพฯ และพิพิธภัณฑ์การ์ตูน, กิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงอนุบาล กิจกรรมโรงเรียนรักการอ่าน 438 แห่ง, กิจกรรมพี่ชวนน้องอ่านกันสนั่นเมือง, โครงการเท่-เหนือ-ไทย ตามหาวรรณกรรมของคนกรุงเทพ 1 เขต 1 วรรณกรรม, กิจกรรมปล่อยหนังสือโดยเครือข่ายเพื่อนหนังสือ ที่เริ่มมาก่อนที่กรุงเทพฯ จะได้รับเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลก ฯลฯ
“ถ้าดูจากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะเห็นว่าทุกวันนี้กรุงเทพฯ สัดส่วนของการอ่านมากที่สุด 94.6% ซึ่งอาจจะมาจากอานิสงส์ของการเป็นเมืองหนังสือโลกก็ได้”
ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ บอกและอธิบายถึงที่มาของการจัดนิทรรศการครั้งนี้เพื่อสรุปให้เห็นว่าเราได้ดำเนินการอะไรไปบ้างในปีที่ผ่านมา พร้อมกับเป็นการส่งมอบภารกิจนี้ให้กับชาว กทม. ต่อไป เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองอ่านอย่างแท้จริง ส่วนนโยบายหลังจากนี้ก็จะเข้มข้นต่อไปยิ่งขึ้น อย่างน้อยที่สุด ในส่วนของการศึกษา คือโรงเรียนทั้ง 438 โรง เราก็ต้องไปจัดการให้เด็กอ่านคล่อง เขียนคล่อง แล้วกิจกรรมส่งเสริมการอ่านก็ยังต้องเดินหน้าต่อไปในทุกๆ โรงเรียน และกรุงเทพฯ กับองค์กรภาคีเครือข่ายก็ยังคงร่วมมือกันขับเคลื่อนอยู่
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะไม่หยุดอยู่แค่วันนี้ เพราะแม้วันนี้การจัดนิทรรศการตรงนี้จะถือเป็นการประกาศความสำเร็จส่วนหนึ่ง แต่ว่าจุดนี้ต้องไม่ใช่จุดสุดท้าย อยากให้เป็นจุดเริ่มต้นอีกวาระหนึ่งมากกว่า และอยากให้ขับเคลื่อนกันไปตลอดชีวิตของแต่ละคน จนกรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองแห่งการอ่านที่สามารถผลักดัน เชิญชวน จูงใจ ให้เมืองอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยแต่เป็นทั่วโลก ที่จะทำให้คนสามารถมีวัฒนธรรม มีอารยธรรม และอยู่กันได้โดยสันติ”


ศักดิ์ สิริ มีสมสืบ นักเขียนรางวัลซีไรต์ อธิบายถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือว่า “การอ่านเกิดมาก่อนตัวอักษร ก่อนที่โลกจะมีหนังสือเสียด้วยซ้ำ เพราะว่าที่จริงแล้วการอ่านหมายถึง อายตนะทั้ง 6 ของมนุษย์ที่แทนค่าความหมายของสิ่งที่มากระทบ การส่งเสริมการอ่านจะไม่บรรลุจุดประสงค์ ถ้าไม่ส่งเสริมการเขียน เพราะการอ่านหนังสือคือการอ่านความคิดคนอื่น ส่วนการเขียนหนังสือคือการอ่านความคิดตัวเอง ฉะนั้นการส่งเสริมการอ่านต้องส่งเสริมให้ครบมิติของการอ่าน และความหมายที่ลึกซึ้งที่สุดของการอ่านก็คือ ‘วิจารณญาณ’ ”

ส่วนประชาชนในกรุงเทพฯ นั้น มีความพร้อมในด้านของวิจารณญาณการอ่านเพียงพอสมฐานะกับการเป็นเมืองหนังสือโลกแล้วหรือยัง เราสามารถแยกแยะได้จริงหรือว่าหนังสือเล่มไหนเป็นผลงานวรรณกรรมที่ควรค่าแก่การอ่านและมีคุณภาพในการพัฒนาความคิด แล้วการใช้กรอบของบทบาทการเป็นเมืองหนังสือโลก มาสวมให้กับเมืองหลวงของประเทศที่มีจำนวนคนอ่านหนังสือไม่มากนักนี้ จะสามารถเพิ่มจำนวนนักอ่านทั่วประเทศไปได้มากกว่าเดิมหรือไม่
คงเป็นผลลัพธ์ระยะยาวที่ยังไม่มีผู้ใดตอบได้
นิทรรศการ “เล่าเรื่อง เมืองหนังสือโลก” ยังจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้ถึง 29 มิถุนายน 2557 ทุกวัน เวลา 11.00-22.00 น. เดินชมเสร็จแล้วมีจุดให้ผู้เข้าร่วมงานเขียนแสดงความเห็น ข้อเสนอแนะหรือข้อติชม เพื่อเป็นแนวทางให้กรุงเทพฯนำไปปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมและบริการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการอ่านและสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็น “มหานครแห่งการอ่าน” ได้อย่างแท้จริงอีกด้วย.
(ตีพิมพ์: วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน 2557 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ประชาชื่น หน้า 18)