
"การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทย ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข"
มาตรา 6 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
เป็นที่ฮือฮาตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว เมื่อ "World Economic Forum (WEF)" เปิดเผยผลการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาภายในกลุ่มประเทศอาเซียนออกมาว่า ประเทศไทยรั้งท้ายอยู่ในอันดับที่ 8
ทั้งๆ ที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระบบการศึกษาบ้านเราดูจะผลักดันให้มีการแข่งขันกันสูงมากขึ้น เด็กบางคนต้องเรียนวันละสิบคาบต่อวัน และกว่าร้อยละ 30 ของเด็กมัธยมปลายเรียนพิเศษเป็นประจำทุกวัน แต่ผลลัพธ์กลับแสดงออกมาว่า ความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กต่ำลง
คำถามคืออะไรที่ทำให้การศึกษาไทยลงทุนสูงแต่ได้ผลต่ำขนาดนี้?
เบื้องหลัง...กะเทาะ 'ปัญหา' การศึกษาไทย "กขคง ข้อนี้ไม่มีคำตอบ"

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอีกจำนวนมากที่มีระบบการศึกษาเป็นต้นเหตุ ทั้งรูปแบบของระบบการศึกษาที่ตายตัว ใช้รูปแบบเดียวกันในทุกพื้นที่ การดูแลเด็กอย่างไม่มีประสิทธิภาพในช่วงวัยที่ควรได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด (0-5 ปี) การตั้งครรภ์ในวัยเรียน ปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา ปัญหาครูล้นประเทศแต่ไม่มีคุณภาพ หรือการให้คุณค่ากับใบปริญญาในฐานะผลสัมฤทธิ์การศึกษาที่ไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้จริง
ปัญหาพวกนี้มาจากไหน แล้วใครสมควรรับผิดชอบ?
แค่เริ่มต้นเรื่องก็เต็มไปด้วยคำถาม ด้วยเหตุนี้เอง สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้ร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ผลิตรายการ "กขคง ข้อนี้ไม่มีคำตอบ" ขึ้นมาเพื่อเป็นอีกแนวทางในการตั้งคำถามและหาคำตอบ กับระบบที่เป็นรากฐานสำคัญของสังคม

รายการดังกล่าวออกอากาศมาแล้วหลายตอน และแม้จะอยู่ในช่วงโค้งสุดท้าย แต่ที่มาของ "ปัญหาการศึกษา" ตลอดจน "เบื้องลึกเบื้องหลัง" การก่อกำเนิดผลงานชิ้นนี้ ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าพูดคุยขบคิด
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการของ สสค. และหนึ่งในผู้ร่วมผลิตรายการ อธิบายว่า ปัญหาเรื่องระบบการศึกษาของไทยที่เห็นกันอยู่นั้น จริงๆ แล้วประเทศอื่นก็มีปัญหา เนื่องจากเป็นการบริหารจัดการโดยใช้ระบบรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง อย่างประเทศกรีซ อังกฤษ ฝรั่งเศส หรืออิตาลี ซึ่งทิศทางในขณะนี้ทุกประเทศกำลังเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน คือภาครัฐกำลังพยายามเปลี่ยนบทบาทให้ภาคเอกชนและภาคท้องถิ่น มาเป็นผู้จัดการศึกษาแทนภาครัฐมากขึ้น เพื่อให้เกิดความหลากหลายของการจัดระบบการศึกษา
กรณีของประเทศไทย ก็อาจจะให้โรงเรียนในสามจังหวัดภาคใต้สอนเน้นเรื่องของความแตกต่างทางศาสนา หรือสอนภาษามลายู หรือสอนด้านภาษาในกรณีที่อาจจะต้องข้ามไปทำงานฝั่งมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย ถ้าเป็นทางภาคเหนือก็อาจจะต้องเรียนภาษาจีน หรือหากเป็น จ.พระนครศรีอยุธยา จ.สุโขทัย ซึ่งที่เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์เก่า ก็อาจจะต้องเน้นเรียนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้น

"การกระจายอำนาจไม่ใช่แค่กระจายลงไปเพื่อหวังให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้นอย่างเดียว แต่ต้องกระจายอำนาจเพื่อให้ผู้เรียนมองเห็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นมากขึ้น เราคิดว่าการจัดการศึกษาควรอยู่ในมือของโรงเรียนร่วมกับชุมชนและท้องถิ่น ฐานคิดรายการจะเป็นการนำเสนอให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันสร้างกระแสสังคมว่า ถ้าจะผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจการศึกษา ประชาชนควรเข้าใจว่าทำไมเราต้องกระจายอำนาจ และทำไมทุกคนต้องถือว่าการปฏิรูประบบการศึกษาเป็นหน้าที่ของตัวเอง"
ดร.อมรวิชช์กล่าว
ดร.อมรวิชช์ชี้แจงว่า ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ ต้องเลิกชี้นิ้วไปที่กระทรวงศึกษาฯฝ่ายเดียว เลิกเอาแต่วิพากษ์ระบบ เพราะถ้าคิดว่าการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน สักพักชุมชนท้องถิ่นก็จะมีบทบาทเข้ามาช่วย เอกชนก็ต้องเข้ามาช่วย หน้าที่ของรายการนี้จึงเป็นการปูประเด็นให้เห็นว่าตอนนี้การศึกษาไทยลงทุนสูง แต่ได้ผลต่ำเกินไป มีหลายปัญหาที่เกิดขึ้นจากข้อจำกัดของการบริหารจัดการภาครัฐ และชี้ภาพรวมว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปประเทศชาติจะเสียหายแน่นอน นอกจากนี้ ในรายการจะมีการตั้งคำถามอื่นๆ ถึงปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องการศึกษา
ไล่ตั้งแต่เรื่องเด็กวัยก่อนเข้าเรียน ที่การสื่อสารระหว่างภาคสาธารณสุข ภาคศูนย์ดูแลเด็กเล็กระดับท้องถิ่น และภาคโรงเรียน ไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเรื่องปัญหาการอ่านของเด็ก ที่มีผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร ปัญหาครูไม่มีคุณภาพ ยาวมาจนถึงการเรียนจบในระดับอุดมศึกษา ที่ใบปริญญาไม่ได้มีคุณค่าอย่างที่ควรจะเป็นอีกต่อไป ฯลฯ
"ทุกตอนจะย้ำประเด็นที่เหมือนกันว่า เราคงจัดการแบบเดิมไม่ได้แล้ว เราจะฝากงานให้รัฐจัดการแต่ผู้เดียวไม่ได้ ทุกภาคส่วนต้องเริ่มตั้งคำถาม ที่เราตั้งชื่อรายการว่า กขคง ข้อนี้ไม่มีคำตอบ แอบมีสร้อยแฝงมาอยู่ว่า ถ้าพวกเราไม่ช่วยกันตั้งคำถาม ตั้งคำถามว่าเราเองในฐานะคนไทยคนหนึ่ง เราจะช่วยกันเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง หรือช่วยกันลงมือทำอะไรบางอย่างที่จะช่วยกันปฏิรูปหรือปฏิวัติการศึกษาขึ้นมาได้หรือไม่" ดร.อมรวิชช์กล่าว

ขณะที่โปรดิวเซอร์รายการ สกุลนุช ตู้ผาสุก พูดถึงความคาดหวังที่รายการนี้จะส่งผลต่อสังคมว่า คงหวังอะไรไม่ได้มาก นอกจากจะให้เป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งเท่านั้น เพราะยากมากกับการพูดถึงปัญหาของการศึกษา ที่ซับซ้อนและยุ่งยาก
"ประเด็นคือ จะทำอย่างไรให้ไม่มีใครถูกตำหนิ เราไม่รู้สึกว่าเป็นความผิดของใคร ไม่ใช่ของครู พ่อแม่ รัฐบาล หรือบุคคลใดๆ แต่คือเรื่องของการเซตระบบขึ้นมาโดยที่ไม่ได้ดูข้อเท็จจริง ว่าควรจะปรับระบบให้ถูกต้องตามเวลาและสถานการณ์ และทีมงานเชื่อว่าระบบพวกนี้ไม่ควรขึ้นอยู่กับคนกรุงเทพฯ แต่ควรขึ้นอยู่กับคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้
"ทางรายการพยายามจะสร้างแนวร่วมมากกว่าประณามเรื่องนี้ โดยมุ่งทำให้คนตระหนักว่าปัญหาการศึกษา ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองและเปลี่ยนระบบการจัดการมัน เอาความเป็นจริงมาเป็นตัวตั้งว่าควรจะจัดการมันในรูปแบบไหน จะสามารถทำให้คนลุกขึ้นมาเป็นแนวร่วมกันได้ ซึ่งจุดนี้รายการอยากให้คนดูกลับมาถามตัวเองว่าถ้าดูรายการนี้แล้ว ได้คำตอบหรือเปล่าว่าตัวเองควรจะอยู่ตรงไหนของสังคม แล้วจะทำอะไรได้บ้างเพื่อหาทางออกร่วมกัน”
ถามถึงกลุ่มเป้าหมายที่รายการอยากสื่อสารด้วย แม้เรื่องการศึกษา ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจะเป็น "เด็ก"
แต่หากมองอย่างเชื่อมโยง เราจะพบว่าแท้จริงแล้วกลุ่มเป้าหมายของรายการกลับต้องเป็นทุกคน ทุกภาคส่วน

"เราพูดกันว่าเด็กคืออนาคตของชาติ แต่มันเป็นแค่คำพูดสวยๆ เราไม่เคยลงมือทำให้เขาเป็นอนาคตของประเทศนี้ได้จริง คำถามที่เราตั้งขึ้นมาคือเราจะทำอย่างไรให้เขาเติบโตขึ้นไปเป็นคนคุณภาพ ที่จะทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่า เวลาที่เราแก่ตัวลงไป เราฝากความหวังไว้กับเด็กของเราได้ และถ้าเราต้องการสร้างสิ่งดีๆ ขึ้นมาในอนาคต
"ผู้ใหญ่อย่างพวกเราตอนนี้ก็ต้องเติบโตไปพร้อมกับการปลูกฝังเด็ก อนาคตของเราที่เราแก่ตัวไป เราจะได้รู้สึกว่าในสังคมมีคนคุณภาพที่คอยดูแลเราอยู่ข้างหลัง" สกุลนุชกล่าว
รายการ "ก ข ค ง ข้อนี้ไม่มีคำตอบ" ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14.05-14.30 น. ทางไทยพีบีเอส สามารถรับชมรายการย้อนหลังได้ที่ www.thaipbs.or.th/NoAnswer
วิเคราะห์ ขบคิด และร่วมหาคำตอบให้กับ "วิกฤตการศึกษาไทย".
(ตีพิมพ์: วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2557 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ประชาชื่น หน้า 17)